สัมภาษณ์พ.ท. ผศ. นพ. ภูริพันธ์ จิรางกูร ศัลยแพทย์โรคกระดูกและข้อ รพ. พระมงกุฎเกล้า
➢ ภาวะโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) คือโรคที่ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกน้อยลง เกิดจากกระบวนการสร้างกระดูกใหม่ทดแทนกระดูกเก่าที่เสื่อมสภาพไม่สมดุลกับกระบวนการสลายของกระดูก เนื้อกระดูกพรุน มีเนื้อกระดูกที่ผิดปกติ ความหนาแน่นของกระดูกลดลงขณะที่กำลังเจริญเติบโตหรือมีการสูญเสียมวลกระดูกอย่างมากหลังจากเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ทำให้กระดูกเปราะบาง ไม่สามารถรับน้ำหนักและแตกหักง่าย
➢ ทำไมถึงเรียกว่าเป็นภัยเงียบ เนื่องจากไม่ได้มีอาการบ่งชี้แต่อย่างใด ทำให้ไม่รู้ว่าตัวเองมีภาวะกระดูกพรุน เมื่อกระดูกสันหลังโปร่งบางและยุบตัวลงช้า ๆ จนมีอาการหลังงุ้มหลังงอ กระทั่งมาทับเส้นประสาท ทำให้เกิดเป็นโรคอัมพฤต อัมพาต ในที่สุด และจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเกิดอุบัติเหตุ แค่ล้มเบา ๆ ก็ทำให้กระดูกหักได้ โดยเฉพาะที่กระดูกข้อสะโพก และกระดูกหลัง ไม่ว่าจะผ่าตัดดีแค่ไหน ก็ไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้ ก่อให้เกิดความพิการและมีคุณภาพชีวิตที่ด้อยลงไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันเองได้ แต่ก็มีข้อสังเกตุอย่างหนึ่งคือมีส่วนสูงที่ลดลง
➢ สาเหตุของภาวะกระดูกพรุน เกิดจาก แคลเซี่ยมในกระดูกลดลง ซึ่งมีผลจากโรคต่าง ๆ อาทิเช่น โรคตับ ไต ภูมิคุ้มกันตัวเอง ไทรอยด์ เบาหวาน เพศหญิงที่ได้รับการผ่าตัดเอารังไข่ออกทั้งสองข้างในช่วงก่อนหมดประจำเดือน หมดประจำเดือนเร็ว ผู้ที่รับยากลุ่มเสตียรอยด์ ตลอดจนผู้ดื่มแอลกฮอล์ น้ำอัดลม และผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย จะเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เนื่องจาก เพศหญิงมีภาวะวัยหมดประจำเดือน มวลกระดูกจะลดลงเรื่อย ๆ ในทุกปี
➢ ทำอย่างไรจะไม่เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยกลางคน จะมีการสะสมแคลเซียมที่กระดูก จนถึงวัยนึงที่เรียกว่า Peak bone mass คือวัยที่มีค่ามวลกระดูกสูงสุด ซึ่งจะอยู่ในช่วงอายุ 20-30 ปี เมื่อถึงวัยกลางคน โดยเฉพาะในเพศหญิง จะลดลงอย่างรวดเร็ว ในช่วงหมดประจำเดือน จึงจำเป็นต้องดูแลตัวเองให้ดี มากกว่าเพศชาย ดังนั้น จึงควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซี่ยมสูง อาทิเช่น นม โยเกิร์ต นมถั่วเหลือง ไข่แดง ปลาแซลมอล ปลาทูน่า ปลาตัวเล็กตัวน้อย เป็นต้น ผักผลไม้ เช่น กีวี ส้ม มะละกอ ผักใบเขียว ที่มีแคลเซียมสูงมาก ๆ คือผักโขม ใบยอ และสำหรับรับวิตามินดี จาก ถั่วอัลมอล เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วงอก ถั่วฝักยาว งาดำ แล้วนั้น วิตามินดี ยังได้มาจากแสงแดด แสงยูวี ที่ทำปฏิกิริยากับผิวหนัง สังเคราะห์เป็นวิตามินดี ซึ่งมีประโยชน์ ในการดูดซึมแคลเซี่ยม มีผลกับวงจรการสร้างของกระดูก ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ ควบคุมความดันโลหิต ลดอาการซึมเศร้า คลายความเครียด ได้อีกด้วย
ดังนั้น ควรรับแสงแดดในช่วงเช้า หรือช่วงเย็น ที่มีแดดอ่อน ๆ เพราะจะได้ไม่ร้อนมากเกินไป ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าคนไทยจำนวนมากมีภาวะขาดวิตามินดี หลีกเลี่ยง เครื่องดื่มแอลกฮอล์ น้ำอัดลม กาแฟ และบุหรี่
➢ การคัดกรอง ภาวะโรคกระดูกพรุน ควรไปตรวจวัดความหาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density :BMD) ในเพศหญิงอายุ 65 ปีขึ้นไป เพศชายอายุ 70 ปีขึ้นไป หากมีอายุต่ำกว่านี้ และเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง จากสาเหตุที่กล่าวข้างต้น ก็สามารถไปตรวจคัดกรองได้ก่อน
➢ เมื่อทราบว่าเป็นต้องทำอย่างไร ใช้ยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonates) ใช้สำหรับป้องกันและรักษาโรคกระพรุน ซี่งมีทั้งแบบรับประทานและยาฉีด เพื่อลดการสลายกระดูก ยับยั้งการทำงาน รวมถึงทำให้อายุของเซลล์ที่ทำหน้าที่สลายกระดูกลดน้อยลง ลดความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหัก ปรับโภชนาการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม และวิตามินดี ร่วมกับการออกกำลังกาย
No comments:
Post a Comment