กรมการท่องเที่ยว ครบรอบ 21 ปี เดินหน้านโยบาย “ก้าวย่างอย่างยั่งยืน” - Once In A Life Time

Once In A Life Time

ก้าวไปกับเราครั้งหนึ่งในชีวิต

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Monday, August 28, 2023

กรมการท่องเที่ยว ครบรอบ 21 ปี เดินหน้านโยบาย “ก้าวย่างอย่างยั่งยืน”











นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว เป็นประธานในงาน “ครบรอบ 21 ปี สถาปนากรมการท่องเที่ยว” โดยมีคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกรมการท่องเที่ยว พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง โดยภายในงานมีการเปิดตัวโลโก้ของหน่วยงาน DOT โฉมใหม่ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์สร้างภาพจำของกรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว ธุรกิจนําเที่ยว มัคคุเทศก์ และผู้นําเที่ยว มาตรฐานบุคลากรด้านการท่องเที่ยว 

รวมถึงการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ในวันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม ณ กรมการท่องเที่ยว ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร


นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การจัดงานวันสถาปนากรมการท่องเที่ยวครบรอบ 21 ปี ครั้งนี้ มีแนวความคิดหลัก คือ “ก้าวย่าง..อย่างยั่งยืน” ตามกรอบการพัฒนาของโลกที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิดหรือโมเดลที่สำคัญ ได้แก่


TTS (Thailand Tourism Standard) มาตรฐานการท่องเที่ยวไทย เครื่องมือในการพัฒนาและเพิ่มขีดของผู้ประกอบการและชุมชนด้านการท่องเที่ยว ให้แข่งขันได้ในระดับสากล สร้างภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว โดยมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย ครอบคลุมการท่องเที่ยวในทุกภาคส่วนทั้งด้านที่พัก บริการการท่องเที่ยว กิจกรรมท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ปัจจุบันมีมาตรฐานทั้งสิ้น 56 มาตรฐาน นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการยกระดับให้กับผู้ได้รับมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย ให้มีจุดขายที่เป็นอัตลักษณ์อย่างเด่นชัดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น การพัฒนาต้นแบบโฮมสเตย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly Homestay) มาตรฐานโรงแรมสีเขียว (ASEAN Green Hotel Standard) มาตรฐานเมืองท่องเที่ยวสะอาด (ASEAN Clean Tourist City Standard) และยังมีส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถตอบสนองนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม Generation ต่าง ๆ กลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิม และกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจเฉพาะ เพื่อให้ท่องเที่ยวอย่างมีความสุขและประทับใจ


BCG Model การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม เป็นโมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศรูปแบบใหม่ มุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ใน 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งการดำเนินงานภายใต้แนวคิด BCG Model ได้นำมาสู่การพัฒนางานที่เรียกว่า BCG Tourism เป็นการพัฒนาที่ผสมผสานความยั่งยืนกับการท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานที่อนุรักษ์ธรรมชาติ สร้างคุณค่า อัตลักษณ์ และรายได้ให้แก่ท้องถิ่นและชุมชน การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ใช้ซ้ำ หรือนำกลับมาใช้ใหม่ โดยไม่ทำลายธรรมชาติและคงไว้ให้ยาวนานที่สุดที่สำคัญเมื่อไม่นานมานี้ กรมการท่องเที่ยวได้ร่วมบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ครั้งแรกในประเทศไทย เป็นสักขีพยานประกาศปฏิญญาเกาะเต่า เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ร่วมกับประชาคมชาวเกาะ 21 เกาะ และองค์กรภาคีเครือข่ายกว่า 23 องค์กร ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนให้แหล่งท่องเที่ยวประเภทเกาะมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการท่องเที่ยว ด้วยการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG อีกทั้งยังได้พัฒนาและยกระดับศักยภาพบุคลากรด้านการท่องเที่ยวสู่ความเป็นมืออาชีพ ตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG และการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบผ่านโครงการ “ท่องเที่ยวสีขาว”


SDGs (Sustainable Development Goals) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (United Nations: UN) เพื่อทำให้โลกดีขึ้นภายในปี 2030 ด้วยการพัฒนางานให้สอดคล้องกับเป้าหมาย 17 เป้าหมาย 5 มิติ ที่ให้ความสำคัญในเรื่อง คน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สันติภาพ และความร่วมมือ ที่คำนึงถึงความเป็นองค์รวมของทุกๆ ด้านอย่างสมดุล บนพื้นฐานของทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรม ซึ่งกรมการท่องเที่ยวได้นำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน มาปรับใช้และวางแผนการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่อยู่ในระดับสากลและนานาชาติ โดยจัดอบรมเพื่อยกระดับศักยภาพบุคลากรภาครัฐสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน SDGs ซึ่งเป็นการอบรมเพื่อวางแนวทางการยกระดับศักยภาพบุคลากรภาครัฐให้มีองค์ความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องของการวางแผนและบริหารเชิงบูรณาการด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า กรมการท่องเที่ยวจะยังคงผลักดันและยกระดับศักยภาพบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ในส่วนของผู้ประกอบการ ชุมชน มัคคุเทศก์ และภาคเอกชน ให้มีองค์ความรู้ และศักยภาพภายใต้แนวคิด SDGs เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนและส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยอย่างยืนต่อไป


จากการทำงานตลอด 21 ปี ของกรมการท่องเที่ยว (Department of Tourism) หรือ “DOT” เปรียบเสมือนจุดเล็กๆ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่มุ่งส่งเสริม เติมเต็ม และพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว ธุรกิจนำเที่ยว และบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ในโอกาสครบรอบ 21 ปี วันสถาปนากรมการท่องเที่ยว 28 สิงหาคม 2566 นี้ กรมการท่องเที่ยวจะก้าวสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ และสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก พร้อมเปิดตัวสัญลักษณ์ “DOT” ที่จะใช้ควบคู่กับตราสัญลักษณ์เดิมของกรมการท่องเที่ยว นับตั้งแต่ปีที่ 21 นี้ เพื่อสื่อสารและสร้างภาพจำให้ตัวตนของกรมการท่องเที่ยวเด่นชัดขึ้น เป็นหน่วยงานที่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน บูรณาการความร่วมมือในการทำงาน ให้บรรลุวัตถุประสงค์และประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ


* * * * * * * * * *

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad