กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่าย รณรงค์วันไตโลก ปี 2566 ภายใต้คำขวัญ “ตระหนักภัย ใส่ใจไต ป้องกันไว้ เน้นกลุ่มเสี่ยงโรคไตเรื้อรัง” - Once In A Life Time

Once In A Life Time

ก้าวไปกับเราครั้งหนึ่งในชีวิต

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Thursday, March 9, 2023

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่าย รณรงค์วันไตโลก ปี 2566 ภายใต้คำขวัญ “ตระหนักภัย ใส่ใจไต ป้องกันไว้ เน้นกลุ่มเสี่ยงโรคไตเรื้อรัง”




กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่าย รณรงค์วันไตโลก ปี 2566 ภายใต้คำขวัญ “ตระหนักภัย ใส่ใจไต ป้องกันไว้ เน้นกลุ่มเสี่ยงโรคไตเรื้อรัง” มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักให้ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และควบคุมความดันโลหิตให้ดี โดยจากข้อมูลปี 2565 มีรายงานพบว่า 1 ใน 25 ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง กลายเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรายใหม่ 


วันนี้ (9 มีนาคม 2566) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้กำหนดให้วันพฤหัสบดีในสัปดาห์ที่สองของเดือนมีนาคมของทุกปีเป็น 

”วันไตโลก” (World Kidney day) ซึ่งปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 9 มี.ค. 2566 สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยได้กำหนดประเด็นรณรงค์ คือ “Kidney Health For All- preparing for the unexpected, supporting the vulnerable : ตระหนักภัย ใส่ใจไต ป้องกันไว้ เน้นกลุ่มเสี่ยง” โดย 1 ใน 10 ของประชากรทั่วโลกมีการทำงานของไตผิดปกติ และพบว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 1 ล้านคน มีสาเหตุมาจากการไม่ได้เข้ารับการรักษาโรคไตวายเรื้อรัง 

สำหรับประเทศไทยสถานการณ์ของโรคไตเรื้อรังในประชากรไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับเป็นปัญหาสาธารณสุขและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก จากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในปี 2565 พบว่า 1 ใน 25 ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง กลายเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรายใหม่ มีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะ 3 จำนวน 420,212 ราย ระยะ 4 จำนวน 420,212 ราย และระยะที่ 5 ที่ต้องล้างไตมากถึง 62,386 ราย 

กรมควบคุมโรค จึงมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงควบคุมความดันโลหิตให้ดี เพื่อลดการเกิดผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรายใหม่ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการควบคุมความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี รวมถึงการใช้ยาไม่ถูกต้อง การรับประทานยาชุด ยาแก้ปวด ยาสมุนไพรบางชนิดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน คนเราสามารถสูญเสียการทำงานของไตได้ถึง 90% ก่อนที่จะมีอาการใดๆ 

นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคไตเรื้อรังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้และอาจทำให้ผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลไปตลอดชีวิต การป้องกันโรคไตวายเรื้อรังสามารถทำได้โดย การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้น้อยกว่า 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และน้ำตาลสะสมในเลือดน้อยกว่า 7% รวมทั้งควบคุมระดับความดันโลหิตให้ต่ำกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ควบคุมการรับประทานเกลือไม่น้อยกว่า 5 กรัม/วันหรือเกลือแกงไม่เกิน 1 ช้อนชา/วัน งดการรับประทานยาชุดแก้ปวด ยาสมุนไพร ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน และใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ 

สำหรับแนวทางการการชะลอความเสื่อมของไตในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมิให้กลายเป็นไตวายเรื้อรังเร็วเกินควร คือ การสร้างความรู้และความตระหนักเกี่ยวกับโรคไต เน้นการจัดการความเสี่ยงของการเกิดโรคไตในชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ สามารถดูแลป้องกันตนเองและสมาชิกในครอบครัวไม่ให้ป่วยเป็นโรคไต และให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีคุณภาพ รวมทั้งพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์การคัดกรองความเสี่ยงโรคไต ควบคู่กับการคัดกรองโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน


********************************

ข้อมูลจาก : กองโรคไม่ติดต่อ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 9 มีนาคม 2566


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad