วันนี้(4 มีนาคม 2566) นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่ประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัว ตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2565 ประเทศไทยได้รับแจ้ง พบนักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับจากการเข้าพักที่โรงแรมในประเทศไทยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ติดเชื้อยืนยันโรคลีเจียนแนร์ จำนวน 4 ราย ซึ่งกรมควบคุมโรคร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทีมสอบสวนโรคลงพื้นที่และดำเนินการควบคุมโรคแล้ว พบเชื้อก่อโรคในโรงแรมที่นักท่องเที่ยวเข้าพัก โรคนี้พบอุบัติการณ์ของโรคในประเทศแถบทวีปยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย มีอัตราป่วยตาย ร้อยละ 15 - 20
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อไปว่า โรคลีเจียนแนร์เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดเฉียบพลันจากสิ่งแวดล้อม เชื้อก่อโรคได้แก่เชื้อ Legionella pneumophila ได้รับเชื้อจากการปนเปื้อนของเชื้อมากับละอองน้ำและเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเดินหายใจ บริเวณหรือสถานที่ที่ควรระวังได้แก่ บริเวณน้ำขังนิ่ง ถาดรองน้ำในระบบเครื่องปรับอากาศ ฝักบัวอาบน้ำ อ่างน้ำวน อ่างน้ำร้อน สระน้ำ และน้ำพุ เริ่มมีอาการภายหลังรับเชื้อนาน 2 - 14 วัน อาการของโรคได้แก่ มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ไอ คลื่นไส้อาเจียน โรคนี้สามารถหายได้เองภายใน 2 -5 วัน แต่หากมีอาการแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ มีไข้สูง ไอ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้ออ่อนเพลีย ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
ด้าน นายแพทย์สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ได้รับมอบหมายจากกรมควบคุมโรค จัดประชุมเพื่อพัฒนาระบบเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคลีเจียนแนร์ในผู้ประกอบการโรงแรมพื้นที่กรุงเทพมหานคร กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้แทนสมาคมโรงแรมไทย ผู้บริหารโรงแรม เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลระบบน้ำใช้ ระบบปรับอากาศของโรงแรม และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้รับรู้สถานการณ์โรคลีเจียนแนร์ นโยบายการป้องกันควบคุมโรค วิธีทำลายเชื้อในห้องพักและสิ่งแวดล้อม และการปฏิบัติตามแนวทางมาตรการดำเนินงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการประเภทโรงแรมที่ถูกต้องตามมาตรฐานที่กำหนด
“สถานประกอบการประเภทโรงแรม ร่วมมือป้องกันโรคนี้โดยตรวจสอบคลอรีนในน้ำ ไม่น้อยกว่า 0.2 PPM อุณหภูมิน้ำในระบบน้ำร้อนต้องสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส และน้ำที่ส่งออกต้องอุณหภูมิสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศทุก 1 - 2 สัปดาห์ เปิดฝักบัวทิ้งไว้ 20 นาที หากไม่ได้ใช้นาน ๆ ถอดทำความสะอาดหัวฝักบัว และทำความสะอาดถังน้ำในพัดลมไอน้ำทุกวันด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือผงซักฟอก นอกจากนี้น้ำที่เติมควรเป็นน้ำสะอาดผ่านการฆ่าเชื้อโรคแล้ว” นพ.สุทัศน์กล่าว
****************************
ข้อมูลจาก : สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง /สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 4 มีนาคม 2566
No comments:
Post a Comment