7 มีนาคม 2566 เวลา 09.30 ณ ห้องสัมมนา 3003 ชั้น 3 กรมการพัฒนาชุมชน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานเปิดงานมหกรรมการออมลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องในโอกาสครบรอบ 49 ปี ความสำเร็จของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต พร้อมด้วย นายชูชีพ พงษ์ไชย นายวิฑูรย์ นวลนุกูล นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่กรมกาพัฒนาชุมชนทุกท่าน โดยนางทัศนีย์ ชัยคุณแสง ผู้อำนวยการสำนักทุนและองค์กรการเงินชุมชน กล่าวรายงานฯ
ในการนี้ได้รับเกียรติปาฐกถาพิเศษจากศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี ผู้ก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต พร้อมกับเวทีเสวนา พูดคุยกับคณะกรรมการเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต หัวข้อ “ความสำเร็จของการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต” และ “การดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต โดยการใช้เครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต” จากวิทยากรภาคราชการ หลังจากนั้นได้เยี่ยมชมบูธนิทรรศการฯ จำนวน 8 แห่ง กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านหนองสมบัติ จ.ชัยนาท, กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านถาวรสามัคคี จ.สระแก้ว, กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านหนองจิก จ.อุทัยธานี, กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านขาม จ.ชัยภูมิ, กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนตะโหนด จ.สิงห์บุรี, กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านชากมะหาด จ.ระยอง, กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านขอนขว้าง จ.ปราจีนบุรี, กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านชากไทย จ.จันทบุรี เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ด้านการส่งเสริมการออม รวมทั้งประชาสัมพันธ์งานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตแก่ประชาชนทั่วไป
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตมาตั้งแต่ปี 2517 ริเริ่มโดยคือศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คนที่ 8 โดยเริ่มดำเนินการครั้งแรกจำนวน 2 แห่ง คือ ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2517 ต่อมาได้กำหนดให้วันที่ 6 มีนาคมของทุกปีเป็นวันคล้ายวันก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต และกำหนดให้วันที่ 6 - 8 มีนาคม ของทุกปี เป็นสัปดาห์รณรงค์การประหยัดและการออมของประชาชน
อธิบดีกล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างมากที่เราขับเคลื่อนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตมาถึง 49 ปี ซึ่งเป็นรากฐานของกรมฯ โดยทุกคนต้องมีความเข้าใจ รับรู้ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความเข้มแข็ง ตาม SDG เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ขจัดความยากจนในชุมชน สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้น "ต้องไม่มีคนตกเกณฑ์จปฐ." และขอให้กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่เข้มแข็งบูรณาการทำงานกับภาคส่วนต่างๆ โดยกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เป็นกองทุนชุมชนที่สำคัญ กรมการพัฒนาชุมชนได้ส่งเสริมให้ประชาชนมารวมตัวกันออมเงินตามศักยภาพของตนเอง เป็นการสร้างหลักประกัน สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่สมาชิกเพื่อนำผลกำไรไปพัฒนาและจัดสวัสดิการให้ชุมชนในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน นำสู่การลดหนี้ ปลดหนี้ สร้างงานสร้างอาชีพให้ครัวเรือน สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาคนให้มีศักยภาพในการบริหารจัดการชุมชน เรียนรู้การทำงานร่วมกันในรูปแบบ “กระบวนการกลุ่ม” ใช้ “สัจจะออมทรัพย์” เป็นเครื่องมือในการสร้างวินัยการออม ภายใต้หลักการ “คุณธรรมพัฒนาคน ประชาชนพัฒนาชาติ” โดยใช้หลักคุณธรรม 5 ประการ ได้แก่ ความซื่อสัตย์ ความเสียสละ ความรับผิดชอบ ความเห็นอกเห็นใจกัน และความไว้วางใจกัน
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จำนวน 22,923 กลุ่ม สมาชิกกว่า 3 ล้านคน เงินสัจจะสะสมมากกว่า 35,000 ล้านบาท สมาชิกมีเงินออมเพื่อใช้เป็นเงินทุนประกอบอาชีพ และแก้ไขปัญหาหนี้สินในครัวเรือนได้กว่า 1.2 ล้านคน เป็นจำนวนเงิน 24,300 ล้านบาท นอกจากนี้กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตยังดำเนินกิจกรรมเครือข่าย เช่น ศูนย์สาธิตการตลาด ยุ้งฉาง ธนาคารข้าว ลานตากผลผลิต โรงสีข้าวชุมชน โรงน้ำดื่มชุมชน ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจในระบบกลุ่ม เพื่อให้เกิดรายได้ของกลุ่ม นำไปพัฒนาชุมชนด้านต่าง ๆ รวมถึงจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกและชุมชน ทั้งนี้ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่มีการบริหารจัดการที่ดี มีความเข้มแข็ง คณะกรรมการมีศักยภาพในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตอื่น ๆ ที่ยังไม่เข้มแข็ง ภายใต้แนวคิด “พี่สอนน้อง เพื่อนช่วยเพื่อน” เป็น “โรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต” 8 แห่ง และปี 2566 จัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต” 4 ศูนย์ ทั่วทุกภาค รวมถึงเป็นแกนหลักสำคัญในการขับเคลื่อน “ศูนย์จัดการกองทุนชุมชน” (ศจก.) จำนวน 1,245 แห่ง โดยปี 2566 มีเป้าจัดตั้งเพิ่ม 400 แห่ง เพื่อบูรณาการกองทุนต่าง ๆ ในชุมชน แก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือนนำไปสู่การลดหนี้ ปลดหนี้ แก้ปัญหาทางการเงินของครัวเรือนอย่างได้ผลดี
No comments:
Post a Comment