จุฬาฯ จับมือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ และ สวทช. วิจัยและพัฒนาโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า - Once In A Life Time

Once In A Life Time

ก้าวไปกับเราครั้งหนึ่งในชีวิต

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Wednesday, March 5, 2025

จุฬาฯ จับมือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ และ สวทช. วิจัยและพัฒนาโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ และศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ) ในการวิจัยและพัฒนาโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า


พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2568 ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาฯ กล่าวต้อนรับ และกล่าวถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ และ สวทช. จากนั้นเป็นพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาฯ นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย และ ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายในการรักษาสมดุลทางนิเวศวิทยา สัตว์ป่าหลายชนิดมีจำนวนประชากรลดลงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การทำลายที่อยู่อาศัย และการล่าสัตว์ ซึ่งเป็นภัยต่อระบบนิเวศและการอยู่รอดของสัตว์ป่า พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ และ สวทช. ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการจัดเก็บข้อมูลชีวภาพ การศึกษาเชิงลึกด้านนิเวศวิทยา วิทยาการสืบพันธุ์ ตลอดจนนิติวิทยาศาสตร์ของสัตว์ป่า โดยการบูรณาการองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้ผลงานวิจัยสามารถนำไปประยุกต์ใช้จริงในการอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างยั่งยืน ในการขับเคลื่อนความร่วมมือครั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ และองค์การสวนสัตว์แห่ง ประเทศไทยฯ จะให้การสนับสนุนตัวอย่างชีวภาพจากสัตว์ในสถานเพาะเลี้ยง ส่วน สวทช. จะสนับสนุนงานวิจัยทางเทคโนโลยีชีวภาพและนวัตกรรม โดยมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางในการบูรณาการความรู้ทางวิชาการและการพัฒนาบุคลากร

โครงการความร่วมมือในครั้งนี้จะนำเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง มัลติโอมิกส์ (Multi-omics) เช่น จีโนมิกส์ (Genomics) โปรตีโอมิกส์ (Proteomics) และเมตาโบโลมิกส์ (Metabolomics) มาใช้เพื่อศึกษาการธำรงเผ่าพันธุ์ของสัตว์ป่าหายากอย่างยั่งยืน เทคโนโลยีจีโนมิกส์จะช่วยวิเคราะห์ความหลากหลายทางพันธุกรรม ลดความเสี่ยงจากภาวะเลือดชิด และกำหนดพ่อแม่พันธุ์ที่เหมาะสม ขณะที่โปรตีโอมิกส์และเมตาโบโลมิกส์จะช่วยวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพเพื่อการดูแลสัตว์ป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความสำเร็จที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ชัดจากกรณีศึกษาหลายโครงการ เช่น การวิเคราะห์พันธุกรรมของละมั่งพันธุ์ไทย เพื่อหาแนวทางเพิ่มประชากรให้แข็งแรง การถอดรหัสจีโนมของพญาแร้ง ความร่วมมือกับต่างประเทศในการความสัมพันธ์ในกลุ่มประชากรเสือลายเมฆทั่วโลก เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมของสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์

ความร่วมมือในครั้งนี้จะขยายผลไปสู่โครงการอนุรักษ์ที่ครอบคลุมมากขึ้น เช่น การศึกษาการปรับตัวของสัตว์ป่าต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง การพัฒนาแนวทางขยายพันธุ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ และปล่อยคืนสัตว์ป่าสู่ป่าธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่การอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาฯ เผยว่า ปัจจุบันบทบาทของการศึกษาไม่ได้จำกัดอยู่เพียงภายในห้องเรียน แต่ต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมของประเทศ การอนุรักษ์สัตว์ป่าเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่สามารถนำองค์ความรู้มาสนับสนุนการดำเนินงานเชิงวิทยาศาสตร์ สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้หน่วยงานต่างๆ สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาการวิจัยในเชิงอนุรักษ์ ทั้งในด้านการลดการสูญเสียสัตว์ป่า การขยายพันธุ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ และการจัดการระบบนิเวศให้เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ไม่เพียงเป็นการดำเนินงานในระดับองค์กรเท่านั้น แต่ยังเป็นการขับเคลื่อนในระดับประเทศ เพื่อให้การอนุรักษ์สัตว์ป่ากลายเป็นวาระแห่งชาติ สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยในระยะยาว

นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ มีหน้าที่สำคัญในการอนุรักษ์สัตว์ป่าสำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้จะทำให้องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีทางพันธุกรรมของสัตว์ป่าซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสายพันธุ์ในอนาคต รวมถึงการพัฒนาบุคลากรทั้งสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลสัตว์ป่า

นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่าข้อจำกัดด้านความหลากหลายทางพันธุกรรมของสัตว์ป่าซึ่งอาจส่งผลต่อปัญหาเลือดชิด (inbreeding) ในสัตว์ป่า เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะนำข้อมูลจากงานวิจัยมาประยุกต์ใช้ในการคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของประชากรสัตว์ป่าและลดผลกระทบจากการขาดความหลากหลายทางพันธุกรรม นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวยังช่วยเสริมประสิทธิภาพด้านการดูแลและอนุรักษ์สัตว์ป่าให้มีความยั่งยืน ตลอดจนพัฒนากลยุทธ์และมาตรการที่สามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้จริง เพื่อให้สัตว์ป่ามีโอกาสอยู่รอดและคงอยู่ในระบบนิเวศอย่างมั่นคงต่อไป

ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. โดยศูนย์ไบโอเทคมีหน้าที่วิจัยเกี่ยวกับสัตว์และพืชเป็นหลัก ปัจจุบันมีสัตว์ป่าที่ควรอนุรักษ์เป็นมรดกของประเทศกำลังจะสูญพันธุ์ไป เทคโนโลยีดีเอ็นเอซึ่งเดิมใช้ในมนุษย์สามารถใช้กับสัตว์ได้ด้วย สวทช.มีเทคโนโลยีในการอนุรักษ์พันธุกรรมสัตว์โดยใช้ดีเอ็นเอ รวมทั้งมีเทคโนโลยีในการขยายพันธุ์สัตว์หายากให้คงอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ยากลำบากในป่า เพื่อเป็นการสืบทอดพันธุ์สัตว์เหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไป




No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad