“ บิ๊กโจ๊ก” ปลื้ม ดัน “ Smart Safety Zone 4.0 ” ยึดโยงประชาชน เดินหน้าต่อตามเทรนด์โลก - Once In A Life Time

Once In A Life Time

ก้าวไปกับเราครั้งหนึ่งในชีวิต

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Monday, August 8, 2022

“ บิ๊กโจ๊ก” ปลื้ม ดัน “ Smart Safety Zone 4.0 ” ยึดโยงประชาชน เดินหน้าต่อตามเทรนด์โลก


ผู้ช่วย ผบ.ตร. ประกาศ “ Smart Safety Zone 4.0 ” เดินหน้าต่อตามเทรนด์โลก เน้นประชาชนมีส่วนร่วม ตั้งเป้า ปี 66 ลงท้องถิ่นทั่วไทย 1,480 สถานีสถานีตำรวจ ชี้การให้ประชาชนมีส่วนร่วม ผนวกเทคโนโลยี ก่อให้เกิดความพึงพอใจ ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อทุกภาค กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดเวทีเสวนา “ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และสวัสดิภาพสาธารณะ ” ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022) ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยมี พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจห่งชาติ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ Smart Safety Zone 4.0 นวัตกรรมความปลอดภัย เพื่อการป้องกันอาชญากรรม ” ตามด้วยเวทีเสวนาของ ดร.สุเมธ องกิตติกุล มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, พันตำรวจเอกกัมพล รัตนประทีป รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพิจิตร, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมี ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ แตะกระโทก มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้ดำเนินรายการ


พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า.. การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในยุค New Normal ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตำรวจต้องทำงานเชิงรุก โดยปัจจุบันปัญหาอาชญากรรมเพิ่มขึ้น ผลพวงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการว่างงานเพิ่มขึ้น ครอบครัวมีหนี้สินเพิ่ม เศรษฐกิจย่ำแย่ เป็นหน้าที่ที่ตำรวจต้องปราบปราม แต่การทำงานเชิงรุกคือ ต้องป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ จะทำแบบเดิม ๆ ไม่ได้ ต้องเป็น “การป้องกัน นำการปราบปราม” และที่ตอบโจทย์ที่สุดคือ “โครงการ Smart Safety Zone 4.0” ซึ่ง เป็นการป้องกันและประหยัดงบประมาณที่ต้องใช้ในการติดตามจับคนร้าย Smart Safety Zone 4.0 จึงถือเป็นกระดูกสันหลังหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในเวลานี้



ทั้งนี้ กระทรวงอว. โดย วช. สนับสนุนงบประมาณ 24.28 ล้านบาท เพื่อใช้ในการวิจัยในปี 2564 โดยเริ่มจากพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ก่อน และในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นำร่องสถานีตำรวจเข้าร่วม 15 สถานี มีองค์ประกอบรวมประชาชน ตำรวจ เทคโนโลยี การมีส่วนร่วมของประชาชน ติดตั้งกล้องเทคโนโลยีAI กล้องตรวจจับใบหน้าเข้าไป และจากนั้น 1 เดือนจึงตรวจสอบว่า ประชาชนต้องการหรือไม่ โดยให้มหาวิทยาลัยจัดทำโพลล์สำรวจ พบว่า ประชาชนประมาณ 90% อยากให้ขยายไปทั่วประเทศและประชาชนมีความไว้เนื้อเชื่อใจในกล้องวงจรปิดมากที่สุด เพราะสามารถบันทึกภาพได้ ย้อนหลังได้ เมื่อประชาชนต้องการทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยผบ.ตร.จึงขยาย โครงการนี้ “ หลังจากวช.เริ่มนับหนึ่งให้ โดยให้งบประมาณครั้งแรกกว่า 24 ล้านบาท ในปี 2566 นี้จะขยายไปทั่วประเทศ โดยกระทรวงมหาดไทยได้สนับสนุนงบประมาณโดยให้อบจ.สนับสนุนทุกสถานีตำรวจในทุกจังหวัดที่เข้าร่วม “1 โครงการ 1 Smart Safety Zone 4.0” ประมาณ 20 ล้านบาท โดยมีผู้กำกับเป็นเจ้าภาพหลักประสานงานกับนายกอบจ. นายกเทศมนตรี ภาคเอกชนให้เข้าใจในการดำเนินการ ”

ผู้ช่วยผบ.ตร. กล่าวต่อว่า.. ต่อจากนั้นต้องคัดเลือกพื้นที่สาธารณะ พื้นที่เศรษฐกิจ ย่านแลนด์มาร์ค พื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยสูง และพื้นที่ที่ประชาชนต้องการ และปรับปรุงทั้งทางกายภาพ และการใช้เทคโนโลยี พร้อมย้ำว่า สิ่งสำคัญของโครงการนี้คือ ความต่อเนื่อง ซึ่งโครงการนี้ยังเดินหน้าต่อไปอีกหลายปีจากการมีงบประมาณสนับสนุนจาก กระทรวงอว., อบจ. และ เทศบาล ความร่วมมือของประชาชน ขณะที่เทรนด์ของโลกในการป้องกันอาชญากรรมยังเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ โดยยึดตัวชี้วัดคือ ความหวาดกลัวภัยของประชาชนในพื้นที่ และความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่

ส่วนเจ้าหน้าที่ต้องมีความต่อเนื่อง เช่น มีความสม่ำเสมอดูแลตัดกิ่งไม้ ใบหญ้าทุกเดือน ติดตั้งอุปกรณ์ไฟส่องสว่าง 500 ดวง ต่อปี ตีเส้นทางม้าลายและอื่น ๆ และในวันที่ 6 สิงหาคม ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเพิ่มแพลตฟอร์มทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) ช่องทางให้ประชาชนแจ้งเหตุ ร้องเรียน ซึ่งเป็นผลงานของ ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม หัวหน้าทีมวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) มาใช้ร่วมกับโครงการ 1 Smart Safety Zone 4.0 ด้วย


“ โครงการ Smart Safety Zone 4.0 ของทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับรางวัลอันดับ 1 ของโลก The Best Experience in Community Policing ประเภทการป้องกันอาชญากรรมมาครอง ในการประชุมสุดยอดตํารวจโลก ณ เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นชัยชนะเหนือหลายประเทศที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้า เนื่องจากภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมากในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า เทรนด์โลกคือ ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ในปีหน้า 2566 ขยายสู่ท้องถิ่นที่มีสถานีตำรวจทั่วประเทศอยู่ 1,484 สถานี เพื่อให้ประชาชนจับต้องได้ ผู้ช่วยผบ.ตร. กล่าวทิ้งท้าย


ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เปิดเผยถึงเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับ smart & safe city ว่า.. การเป็นสมาร์ทซิตี้และเมืองที่ปลอดภัย Keyword อยู่ที่ต้องยึดประชาชนเป็นตัวตั้ง และเทคโนโลยีเป็นตัวรอง โดย Smart & Safe City อาจไม่ได้หมายถึงจังหวัด แต่เป็นพื้นที่เทศบาล หรืออื่น ๆ เป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาหลายด้าน อาทิ ด้านสิ่งแวดล้อม พลังงาน การขนส่ง ความปลอดภัย เศรษฐกิจและการอยู่อาศัยสบาย ปลอดภัย และ Smart Safety Zone เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของ Smart City นั่นเอง

สำหรับเทคโนโลยีดิจิทัลที่นำมาใช้ Smart & Safe City มีการออกแบบใช้เทคโนโลยีหลายอย่าง รวมถึงเทคโนโลยีเพื่อค้นหา ตรวจสอบ , การสื่อสาร , การนำข้อมูลวิเคราะห์ ซึ่ง ดร.ภาสกร แนะว่า ต้องมีการบูรณาการข้อมูล เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ และต้องฉลาดในการใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์อย่างเหมาะสม เพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว ต้องหาวิธีการนำมาใช้ให้มีความยั่งยืน และที่สำคัญต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้นำ เพราะถ้าผู้นำไม่เอา Smart & Safe City จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้

ด้าน ดร.สุเมธ องกิตติกุล มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เผยผลงานวิจัยเชิงนโยบาย ฉายให้เห็นภาพใหญ่ด้านความปลอดภัยบนท้องถนนที่น่ากังวล โดยไทยมีอุบัติเหตุทางถนนมากกว่า 1 ล้านครั้งต่อปี ส่วนใหญ่เกิดกับมอเตอร์ไซด์ ภาคีเครือข่ายที่รวบรวมข้อมูลปี 2554-2555 พบว่า มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 20,000 รายต่อปี หรือเฉลี่ยมากกว่า 60-70 รายต่อวัน และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มาจากผู้ขับขี่มอเตอร์ไซด์ จึงคิดว่าจะต้องตั้งเป้าเพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตลง ตามหลักสากลจะต้องลดลง 50% ปี 2563 ที่เกิดสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ตัวเลขเสียชีวิตลดลง อยู่ที่ประมาณ 17,000 ราย เหตุจากมีการเดินทางลดลง ปี 2564 มีแนวโน้มเสียชีวิตประมาณ 17,000 ราย ส่วนปี 2565 นี้ มีแนวโน้มจะอยู่ที่ 17,000-18,000 ราย โดย 70-80% เป็นเพศชาย เพราะใช้รถใช้ถนนมากกว่าและมีพฤติกรรมเสี่ยง ที่น่ากังวลอีกอย่างคือ อัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนของกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนอายุ 15-25 ปี และกลุ่มคนทำงานเริ่มสูงเช่นกัน

ทั้งนี้ รถจักรยานยนต์ เป็นปัญหาท้าทายเพราะในไทยมีการใช้จักรยานยนต์จำนวน 14-15 ล้านคัน การเสียชีวิตส่วนหนึ่งเกิดจากการไม่สวมหมวกนิรภัย โดยในปี 62 พบว่าอัตราการสวมหมวกนิรภัยต่ำมากอยู่ที่ 45% การดื่มแอลกอฮอล์สัดส่วนการทำใบขับขี่ไม่สมดุลกับจำนวนรถ ซึ่งพบว่า มากกว่า 50% ไม่มีใบขับขี่ แสดงถึงการปล่อยปละละเลย ไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ข้อมูลนี้สามารถนำไปใช้ในการกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยได้ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นอย่างเดียว เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า


นอกจากนี้ ดร.สุเมธ ได้เปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นของการจัดทำแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนฉบับที่ 5 (2565-2570) ที่จะเริ่มใช้ในปีนี้ ตั้งเป้าอีก 5 ปีข้างหน้าจะลดจำนวนผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตลง ซึ่งจะสอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ตั้งเป้าไว้ว่า ผู้เสียชีวิตจะต้องไม่เกิน 12 คนต่อ 1 แสนประชากรต่อปี และจะลดผู้บาดเจ็บสาหัสด้วย ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 200,000 รายต่อปี ซึ่งกรอบการดำเนินการตามแผนแม่บทมองว่า การจะลดจำนวนการเสียชีวิตและบาดเจ็บลงได้จะต้องเน้นที่ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซด์ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น อายุระหว่าง 15-25 ปี เน้นเรื่องความเร็ว ต้องมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องและมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad