กรุงเทพฯ 19 กันยายน 2566 กระทรวงพาณิชย์ ประกาศความสำเร็จโครงการกระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่ (From Gen Z to be CEO) ประจำปี 2566 ปั้น Gen Z รุ่นใหม่ได้เกินเป้าหมาย รวม 23,800 ราย พร้อมจัดพิธีสรุปผลและมอบรางวัล Gen Z Ambassadors สุดยอด Gen Z ผู้ที่ทำคะแนนสูงสุดและได้รับคัดเลือกจำนวน 4 ราย ร่วมด้วยการมอบรางวัล Top 10, Top 100, รางวัลคนเก่งอาชีวะ และรางวัลสถาบันการศึกษาดีเด่น บุคลากรดีเด่น เพื่อยกย่องและสะท้อนภาพความสำเร็จจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการนำพาโครงการสู่ความสำเร็จ พร้อมเปิดตัว GEMs Z : GEN Z รุ่น 1 เมล็ดพันธุ์จาก Gen Z ที่มีธุรกิจของตนเองและเข้ารับการพัฒนาศักยภาพให้พร้อมเป็นผู้ประกอบการส่งออกได้ต่อไป
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า “โครงการ From Gen Z to be CEO ของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือ NEA กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โครงการนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง โดยตลอดระยะเวลา 4 ปี อบรมผู้ประกอบการรุ่นใหม่แล้วจำนวนกว่า 60,300 ราย และในปีนี้มีน้องๆ ที่ได้รับรางวัล TOP 100 มาจากสถาบันต่างๆ มากถึง 17 สถาบัน ซึ่งเป็นผลจากการสนับสนุนจากคณะผู้บริหาร คณาจารย์ สถาบันการศึกษากว่า 110 แห่ง ทั่วประเทศ อีกทั้งได้รับความร่วมมือจากองค์กรพันธมิตรระดับประเทศที่เปิดโอกาสให้น้องๆ ได้เข้าร่วมฝึกงาน เพื่อต่อยอดความรู้การทำธุรกิจ ได้แก่ บริษัท ทรู/ หัวเว่ย/ บิทคับ/ EXIM Bank/ P&G/ SPVI/ DHL/ SVOA/ BOL และหน่วยงานภาคการเกษตร ฟาร์มโตะ, นพดาโปรดักส์, ไร่ภูตะวันออร์แกนิคฟาร์ม, สยามคูโบต้า, ไดสตาร์ เฟรช, ไร่สุวรรณ และฟาร์มโคนม ไทย-เดนมาร์ค ที่ร่วมสนับสนุนสถานที่ฝึกงานให้กับนักศึกษาระดับอาชีวศึกษา”
“ผมหวังว่า องค์ความรู้ต่างๆ ในหลักสูตร “ปั้น Gen Z ให้เป็น CEO” ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านสถานการณ์การค้าทั่วโลก ความรู้ในการส่งออก แนวคิดต่างๆ ของนักธุรกิจรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นโอกาส และเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่กระทรวงพาณิชย์ต้องการจะ “ผลักดัน” น้องๆ ให้เป็นผู้ประกอบการที่พร้อมเข้ามามีบทบาทสำคัญในการ “ขับเคลื่อน” ภาคการส่งออกของไทยในอนาคต โดยที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้มีการติดตามผลความสำเร็จของน้องๆ Gen Z ที่เป็นสุดยอดเพชรเม็ดงามของโครงการที่มีสินค้าและบริการเป็นของตนเอง หรือที่เรียกว่า GEMs Z (เจ็ม-ซี) ซึ่งน้องๆ เหล่านี้ได้นำความรู้ที่ได้รับจากโครงการไปต่อยอด และเริ่มทำธุรกิจ โดยได้ผ่านการรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศ จนกลายเป็น “ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ตัวจริง” ซึ่งผมถือว่าเป็น “ความสำเร็จที่จับต้องได้” ของโครงการนี้อย่างแท้จริงครับ”
นางอารดา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า “โครงการ From Gen Z to be CEO ในปี 2566 นี้ กรมได้ขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการรุ่นใหม่มากกว่าเดิม โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานและสถาบันการศึกษาทั้งหมด 110 แห่งทั่วประเทศ อบรมจำนวนทั้งสิ้น 13 ครั้ง ภายใต้ 6 หลักสูตรเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดียิ่งจากสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากมีเนื้อหาหลักสูตรด้านการค้าระหว่างประเทศที่สามารถนำไปปรับใช้ได้จริง และสามารถตอบโจทย์ผู้เข้าร่วมโครงการในเรื่องของสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับ รวมถึงโอกาสในการฝึกงานกับหน่วยงานพันธมิตร และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือ สคต. อีกทั้งในปี 2566 สถาบันการศึกษาได้นำหลักสูตรของโครงการไปบรรจุในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศหรือกำหนดเป็นกิจกรรมพิเศษของสถาบัน ขอขอบคุณทุกๆ สถาบันที่ร่วมกันผลักดันและส่งเสริมให้โครงการในปีนี้สามารถดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย และหวังว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างผู้ประกอบการคลื่นลูกใหม่ด้านการค้าระหว่างประเทศของไทยในอนาคตได้ต่อไปค่ะ”
การจัดงานครั้งนี้ได้มีการมอบประกาศนียบัตรให้แก่ Gen Z ที่ทำคะแนนสูงสุด 100 ลำดับแรก (Top 100) และ 10 อันดับแรก (Top 10) และมอบรางวัล Gen Z Ambassadors สำหรับผู้ที่ทำคะแนนสูงสุดและได้รับคัดเลือก จำนวน 4 ราย จากผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดกว่า 23,800 ราย โดย Gen Z Ambassadors ประจำปี 2566 ได้แก่
1. นายวชิรวิทย์ เลิศอภิสิทธิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปี 3 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
2. นายวริศร์ สุริยันยงค์ คณะเศรษฐศาสตร์ ชั้นปี 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3. นายวฤธ ไตรเกษมศักดิ์ คณะบริหารธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติ ชั้นปี 4 มหาวิทยาลัยมหิดล
4. นายณัฐพล แก้วชุม คณะศิลปศาสตร์ ชั้นปี 4 มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
โดย Gen Z Ambassadors ทั้ง 4 คน จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ส่งต่อแรงบันดาลใจสู่การเป็นประกอบการให้แก่ Gen Z รุ่นต่อๆ ไป
นอกจากนี้ ยังมีการมอบรางวัลอื่นๆ ได้แก่
- รางวัลคนเก่งอาชีวะ ที่มอบให้กับผู้ผ่านการอบรมสังกัดสถาบันการอาชีวศึกษาที่ได้คะแนนสูงสุด ได้แก่ นางสาวอัจฉรา พิศวงค์ นักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปี 2 สาขาพืชศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ
- รางวัลสถาบันการศึกษาดีเด่นและรางวัลบุคลากรดีเด่น ที่มอบให้กับสถาบันการศึกษาและอาจารย์ในสังกัดที่ให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และสนับสนุนในด้านต่างๆ ให้กับโครงการ From Gen Z to be CEO อย่างดียิ่ง โดยมีสถาบันที่ได้รับรางวัล จำนวน 7 สถาบัน ดังนี้
1. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
2. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
3. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
4. มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
5. มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
6. มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
7. วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
- รางวัล Consecutive Partnership มอบให้แก่พันธมิตรที่ให้การสนับสนุนโครงการมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย), บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (Bitkub) ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) และบริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) (P&G)
ผู้ที่สนใจต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของโครงการ From Gen Z to be CEO ประจำปี 2566
ได้ที่ Facebook : https://www.facebook.com/nea.ditp/ หรือหลักสูตรต่าง ๆ ของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (สถาบัน NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สามารถดูรายละเอียดได้ที่ https:// nea.ditp.go.th/ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE OA : @e-academy หรือที่สายด่วน 1169 กด 1 และกด 1
###
No comments:
Post a Comment