กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แจ้งเตือนประชาชนดูแลป้องกันตนเองจากโรคโควิด 19 ที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะกลุ่ม 608 และเด็กเล็กเร่งฉีดวัคซีนโควิด 19 เพื่อลดความเสี่ยงต่ออาการป่วยรุนแรงหากติดเชื้อโควิด 19 ขณะที่จำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ยังติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจในประเทศจีนอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นการป่วยเป็นกลุ่มก้อนของโรคปอดอักเสบในเด็ก โดยทางการจีนได้ออกมาเปิดเผยว่าการระบาดในขณะนี้เป็นการระบาดของโรคที่พบได้บ่อยตามฤดูกาล ไม่พบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ พร้อมแนะนำประชาชนในไทยไม่ตื่นตระหนกและป้องกันตนเองให้ไม่มีความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ
วันนี้ (29 พฤศจิกายน 2566) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 เริ่มมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเป็นไปตามคาดการณ์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการน้อย และยังคงเป็นสายพันธุ์ Omicron นอกจากนี้กรณีที่มีรายงานข่าวจากประเทศจีนว่าพบการระบาดของโรคติดต่อทางเดินหายใจเป็นวงกว้างและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศจีน ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมา ทำให้หลายประเทศให้ความสนใจต่อข่าวนี้เป็นอย่างมาก กรมควบคุมโรคได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและขอให้ข้อมูลว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า ทางการจีนได้แจ้งสาเหตุที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจนั้น พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยเชื้อก่อโรคทางเดินหายใจ ที่เคยมีรายงานแล้ว เช่น เชื้อไมโคพลาสมา (Mycoplasma pneumoniae) ไข้หวัดใหญ่ ไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ไวรัสอะดีโน (Adenovirus) โดยพบผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็ก และข้อมูลจากการสอบสวนโรคไม่พบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่
สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ มีแนวโน้มลดลง (ข้อมูล ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566) พบผู้ป่วยแล้ว 404,896 ราย เสียชีวิต 26 ราย กลุ่มผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน อายุแรกเกิด - 14 ปี ขณะที่โรคติดเชื้อไวรัส RSV ซึ่งเป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ พบการระบาดลดลงเช่นเดียวกัน สำหรับข้อมูลสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 20-26 พฤศจิกายน 2566) พบว่า มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด รวม 480 ราย เฉลี่ยวันละ 69 ราย และมีรายงานผู้เสียชีวิต 2 ราย โดยสัปดาห์ดังกล่าวมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยจากสัปดาห์ก่อนๆ เล็กน้อย ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์โรคว่าจะมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ประมาณการจำนวนผู้ป่วยโควิด 19 รักษาในโรงพยาบาล 24,590 ราย ผู้ป่วยอาการหนักรวม 3,277 ราย ซึ่งองค์การอนามัยโลกยังคงแนะนำให้กลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวและเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัยเมื่อไปในสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น หรือต้องใกล้ชิดกับกลุ่ม 608 รวมทั้งเด็กเล็กซึ่งยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด 19 และแนะนำล้างมือบ่อยๆ และหากพบตนเองมีอาการป่วยสามารถตรวจหาเชื้อด้วย ATK เบื้องต้น โดยเฉพาะกลุ่ม 608 หาก ATK พบผลบวกให้รีบไปพบแพทย์ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
********************************
ข้อมูลจาก : กองระบาดวิทยา/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566
No comments:
Post a Comment