กรมควบคุมโรค ร่วมกับภาคีเครือข่าย เร่งรัด สร้างภูมิปฐมวัย ปกป้องภัยโควิด 19 - Once In A Life Time

Once In A Life Time

ก้าวไปกับเราครั้งหนึ่งในชีวิต

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Friday, October 28, 2022

กรมควบคุมโรค ร่วมกับภาคีเครือข่าย เร่งรัด สร้างภูมิปฐมวัย ปกป้องภัยโควิด 19










วันนี้ (28 ตุลาคม 2565) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า   การฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ช่วยป้องกันการเสียชีวิตในประเทศไทยได้ประมาณ 4.9 แสนราย ป้องกันการป่วยหนักจากโควิด 19 อีกนับล้านคน รวมถึงประหยัดค่ารักษาพยาบาลจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้กลุ่มเป้าหมายอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป สามารถเข้าถึงวัคซีนได้สะดวก ฉีดได้ตามความสมัครใจ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งขณะนี้วัคซีนไฟเซอร์ฝาสีแดงสำหรับฉีดในกลุ่มเด็กอายุ 6 เดือน – 4 ปี ได้กระจายสู่ทุกพื้นที่เรียบร้อยแล้ว จึงควรเร่งรัดการฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายเด็กเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และลดความรุนแรงในกลุ่มเป้าหมายเด็กเล็ก


อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแนวทางวัคซีน Pfizer ฝาสีแดง สำหรับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อฉีดให้กลุ่มเด็กอายุ 6 เดือน- 4  ปี โดยได้พิจารณาจากคำแนะนำของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ร่วมกับคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และคำแนะนำภายใต้การขึ้นทะเบียนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยสูงสุดแก่เด็ก นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการรณรงค์ให้ประชาชนมารับวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้น (บูสเตอร์โดส) โดยเฉพาะกลุ่ม 608 เพื่อลดความรุนแรงของโรคหากติดเชื้อและลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ภายใต้กิจกรรม “รวมพลัง อสม.ส่งต่อภูมิคุ้มกันสู่ 608” ดังนั้นจึงต้องการขอความร่วมมือประชาชนวัยแรงงานช่วยเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการพาพ่อแม่ผู้สูงอายุให้มาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น พร้อมๆ กับรีบพาบุตรหลานมารับวัคซีน เพื่อให้เด็กมีภูมิคุ้มกันขึ้นพร้อมกันก่อนจะเข้าฤดูหนาวที่อาจจะพบการระบาดครั้งใหม่ ทั้งหมดนี้เพื่อให้เราทุกคนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ กลับมาสร้างอาชีพเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม


นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิด 19 พบอัตราการป่วยสูงในเด็กเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ จากข้อมูลพบเด็กที่อายุต่ำกว่า 4 ปีเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด 19 จำนวน  69 ราย โดยมีอัตราป่วยมากกว่าในเด็กโตและเสียชีวิต 1.5 เท่า และป่วยเสียชีวิตมากกว่าเด็กโต 3 เท่า ประกอบกับพบเด็กที่มีภาวะ Mis-C หรือ Long Covid ที่มีอาการรุนแรง ในผู้ป่วยเด็กเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้น  จึงแนะนำให้เด็กทุกคนควรเข้ารับวัคซีน โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรงหรือเสียชีวิต ได้มีการสื่อสารไปยังทุกจังหวัดให้เร่งการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กเล็ก ให้มีจัดหน่วยฉีดให้เข้าถึงง่าย เช่น คลินิกเด็กดี หรือใน รพ.สต. เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเด็กที่มารับวัคซีนตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้สามารถรับพร้อมกันได้ หรือฉีดให้กับศูนย์เด็กเล็กเพื่อป้องกันการระบาดเป็นกลุ่มก้อน


นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยสนับสนุนให้เด็กไทยทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กที่มีภูมิคุ้มกันน้อย กำหนดการฉีดวัคซีน Pfizer ฝาสีแดงนั้น ให้ฉีดโดสละ 0.2 ซีซี (3 ไมโครกรัม) จำนวน 3 เข็ม 


(สัปดาห์ที่ 0, 4, 12) ถึงแม้ว่าการฉีดวัคซีนจะไม่สามารถป้องกันโรคได้ 100% แต่จะทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนจะมีภูมิคุ้มกัน เมื่อได้รับเชื้อจะมีอาการไม่รุนแรง ที่สำคัญจะลดโอกาสการแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่น หรือเด็กๆ อื่น จากการศึกษาความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีแดง พบว่า มีความปลอดภัย อาการข้างเคียงไม่รุนแรง  โดยส่วนใหญ่จะเจ็บบริเวณที่ฉีด มีไข้ อ่อนเพลีย โอกาสพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบน้อย เนื่องจากขนาดโดสต่ำกว่าวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีม่วง 10 เท่า สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กของเอเชีย สนับสนุนให้เด็กได้รับวัคซีนทุกคนแนะนำให้เด็กทุกคนควรเข้ารับวัคซีน โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง ตามข้อแนะนำของ     ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ได้แก่ เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี เด็กคลอดก่อนกำหนด โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำโรคเบาหวาน กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนจะทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด 19 และสามารถกลับสู่ระบบการศึกษาที่โรงเรียน ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นพัฒนาการและทักษะทางสังคมต่อไป

 

คุณเฉลิมกุล อภิบุณโยภาส กรรมการสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวขอบคุณภาครัฐที่ดูแลสุขภาพคนไทยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งวัคซีนสำหรับเด็ก 6 เดือน -4 ปี เป็นวัคซีนที่มีประโยชน์และมีความสำคัญกับเด็กในการป้องกันโรคโควิด 19 สมาคมโรงพยาบาลเอกชน จึงเห็นความสำคัญและวางแผนที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้มากที่สุด ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนได้ให้ความร่วมมือให้บริการฉีดวัคซีน จำนวน 46 แห่ง เป็นโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ 27 แห่ง ปริมณฑล 9 แห่ง และกระจายในจังหวัดอื่นๆ โดยโรงพยาบาลเอกชนให้บริการกับเด็ก 6 เดือน -4 ปี ที่ประสงค์ฉีดวัคซีน ทั้งนี้ผู้ปกครองสามารถติดต่อพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลเอกชนหรือสอบถามข้อมูลหน่วยบริการเอกชนที่ให้บริการฉีดเพิ่มเติมได้ทาง สายด่วนกรมควบคุมโรค 1442 เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงการฉีดวัคซีนฝาแดง สำหรับเด็ก 6 เดือน - 4 ปี โดยจะมีการประชุมกับเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 เพื่อวางแผนเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการให้ได้รับวัคซีนโควิด 19 ต่อไป


***************************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 28 ตุลาคม 2565


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad