กรมควบคุมโรค แนะยึดหลัก "สุก ร้อน สะอาด" ป้องกันโรคอุจจาระร่วงช่วงน้ำท่วม - Once In A Life Time

Once In A Life Time

ก้าวไปกับเราครั้งหนึ่งในชีวิต

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Friday, October 21, 2022

กรมควบคุมโรค แนะยึดหลัก "สุก ร้อน สะอาด" ป้องกันโรคอุจจาระร่วงช่วงน้ำท่วม



กรมควบคุมโรค ห่วงใยสุขภาพประชาชน ช่วงนี้มีน้ำท่วมหลายพื้นที่ ระมัดระวังโรคที่มากับน้ำท่วม  แนะประชาชนดูแลสุขภาพตนเองและคนในครอบครัวให้แข็งแรง รับประทานอาหารโดยยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” ป้องกันโรคอุจจาระร่วง หากมีอาการท้องร่วงให้ดื่มเกลือแร่ป้องกันร่างกายขาดน้ำ 


วันนี้ (21 ตุลาคม 2565) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง หรือมีน้ำป่าไหลหลาก ขอให้ประชาชนระมัดระวังโรคที่มากับน้ำท่วม โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วง ซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหาร น้ำ น้ำแข็งที่ไม่สะอาด ปนเปื้อนเชื้อก่อโรคจากแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิ ส่งผลให้เกิดอาการถ่ายอุจจาระเหลวอย่างน้อย 3 ครั้งขึ้นไป ถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเป็นมูกเลือดแม้เพียงครั้งเดียวใน 1 วัน อาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ร่วมด้วย แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ อุจจาระร่วงเฉียบพลัน   (มีอาการอุจจาระร่วงน้อยกว่า 7 วัน) และอุจจาระร่วงเรื้อรัง (มีอาการอุจจาระร่วงติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป) 


สถานการณ์โรคอุจจาระร่วง ตั้งแต่ 1 ม.ค. 65 – 11 ต.ค. 65 พบผู้ป่วย 472,520 ราย จาก 77 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 714.08 ต่อแสนประชากร ไม่พบผู้เสียชีวิต อัตราส่วนเพศชายต่อเพศหญิง เท่ากับ 1:1.5 กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ 0 - 4 ปี (16.45%) >65 ปี (15.09%) และ 25 - 34 ปี 

(13.68%) จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก คือ  มุกดาหาร อำนาจเจริญ เชียงราย มหาสารคาม และระยอง


ช่วงน้ำท่วม ขอให้ประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” โดยรับประทานอาหารปรุงสุก ใหม่ อาหารค้างมื้อต้องอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง ดื่มน้ำต้มสุก หรือน้ำดื่มบรรจุขวด น้ำแข็งที่สะอาด มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานการผลิต วัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารต้องสด สะอาด ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงหรือรับประทานอาหาร ภายหลังขับถ่ายหรือสัมผัสสิ่งสกปรก สำหรับการดูแลผู้ป่วย อุจจาระร่วงให้ดื่มสารละลายเกลือแร่ (ORS) ผสมน้ำสะอาดตามสัดส่วนที่ระบุข้างซอง จิบแทนน้ำบ่อยๆ (ห้ามดื่มน้ำเกลือแร่สำหรับผู้ที่ออกกำลังกาย (ORT) เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลและเกลือแร่บางชนิดสูง    ทำให้ร่างกายดึงน้ำเข้ามาในทางเดินอาหารส่งผลให้ลำไส้บีบตัวมากขึ้น กระตุ้นการถ่ายเหลวมากขึ้น) ทั้งนี้สามารถเตรียมสารละลายเกลือแร่ได้เองโดยใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ กับเกลือป่นครึ่งช้อนชา ละลายในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 1 ขวดกลม (ประมาณ 750 ซีซี) ควรดื่มให้หมดภายใน 1 วัน และไม่ควรกินยาหยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคตกค้างอยู่ในร่างกาย หากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้าน 

 

นายแพทย์ธเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับอาหารปรุงสุกที่บริจาคช่วงน้ำท่วม ควรหลีกเลี่ยงเมนูที่บูดเสียง่าย เช่น อาหารที่ปรุงจากกะทิ ควรเลือกเมนูอาหารแห้ง เช่น หมูทอด ไก่ทอด ปลาทอด น้ำพริกแห้ง เป็นต้น ไม่ควรราดกับข้าวลงบนข้าวโดยตรง ควรแยกกับข้าวต่างหาก ทั้งนี้ระยะเวลาหลังปรุงสุกจนถึงเวลาบริโภคไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง หากอาหารมีกลิ่น สี รูป รสเปลี่ยนไปไม่ควรรับประทาน ไม่ถ่ายอุจจาระและ    ไม่ทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ เพื่อลดความสกปรก ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคต่างๆ ที่มากับน้ำท่วม เศษอาหารที่เหลือจากการบริโภคในแต่ละวัน (ขยะเปียก) ทิ้งในถุงมัดปากถุงให้แน่น เพื่อป้องกันสัตว์และแมลงนำโรค แล้วรวบรวมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปกำจัดอย่างถูกหลักสุขาภิบาล

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422


********************************************

ข้อมูลจาก : กองระบาดวิทยา/กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 21 ตุลาคม 2565


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad