ม.มหิดล ร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ศาลายา ขับเคลื่อนพันธกิจเพื่อสังคม ส่งมอบอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภค - Once In A Life Time

Once In A Life Time

ก้าวไปกับเราครั้งหนึ่งในชีวิต

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Wednesday, July 26, 2023

ม.มหิดล ร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ศาลายา ขับเคลื่อนพันธกิจเพื่อสังคม ส่งมอบอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภค













การบริโภคอาหารที่ปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิต ปัจจุบันผู้บริโภคส่วนมากเลือกพึ่งพาอาหารริมทาง หรืออาหารปรุงสำเร็จจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้ประกอบกิจการร้านอาหาร และผู้สัมผัสอาหาร เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งมอบอาหารที่ปลอดภัยให้กับผู้บริโภค ตั้งแต่การจัดหาและเตรียมวัตถุดิบ การปรุงประกอบอาหาร การจัดการและการให้บริการ หากร้านอาหารหรือผู้สัมผัสอาหารไม่ปฏิบัติตามสุขลักษณะที่ดี อาจทำให้อาหารปนเปื้อนจากสิ่งสกปรก เชื้อโรค หรือสารเคมีตกค้างต่าง ๆ 


ซึ่งส่งผลกระทบกับสุขภาพของผู้บริโภค ดังนั้น ผู้ประกอบกิจการร้านอาหาร และผู้สัมผัสอาหาร จึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจด้านสุขาภิบาลอาหาร เพื่อให้สามารถจัดการและควบคุมการบริการอาหารให้ถูกสุขลักษณะ สำหรับการส่งมอบอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยสถาบันโภชนาการ และ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอพุทธมณฑล และเทศบาลตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม จัดอบรม “สุขาภิบาลอาหารสำหรับผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร ครั้งที่ 1/2566” โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 26-27 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องประชุมสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา


โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร. ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ รองศาสตราจารย์ ดร.สราวุธ เทพานนท์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ดร.กิตวิชัย ไชยพรศิริ นายอำเภอพุทธมณฑล และคุณยุพา ทองสัมฤทธิ์ รองนายกเทศมนตรีตำบลศาลายา เข้าร่วมในพิธีเปิดการอบรม 


ในการนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ  กล่าวว่า อาหารที่ปลอดภัยเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่โภชนาการ และสุขภาพที่ดี  ดังนั้นการให้ความรู้ความเข้าใจหลักการสุขาภิบาลอาหาร สุขวิทยาส่วนบุคคล รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ของผู้ประกอบการและผู้สัมผัสอาหาร จึงมีส่วนสำคัญในการสร้างความปลอดภัยอาหาร ในพื้นที่อำเภอพุทธมณฑลแห่งนี้ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในโครงการพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคม


ด้าน ดร.กิตวิชัย ไชยพรศิริ นายอำเภอพุทธมณฑล  ระบุว่า ผู้ประกอบกิจการ และผู้สัมผัสอาหาร ถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการให้บริการอาหาร ที่สะอาดปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ มีคุณค่าทางโภชนาการไปสู่ผู้ปริโภค การอบรมนี้จะเป็นการส่งเสริมให้ผู้รับการอบรมฯ ทั้งจากภายในอำเภอพุทธมณฑล และจากพื้นที่ใกล้เคียง ได้มีความรู้ความเข้าใจในหลักการสุขาภิบาลอาหาร กฎหมายที่เกี่ยวข้อง สามารถนำความรู้ไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและให้บริการอาหารที่สะอาดและปลอดภัยแก่ผู้บริโภคในอำเภอพุทธมณฑล


ทั้งนี้ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับความเห็นชอบจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นหน่วยงานจัดการอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นัฐพล ตั้งสุภูมิ หน่วยวิทยาศาสตร์การอาหาร เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร สามารถให้บริการอาหารที่สะอาดปลอดภัยสู่ผู้บริโภค  โดยผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารต้องผ่านการอบรมตามหลักเกณฑ์ ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการอบรมผู้ประกอบกิจการ และผู้สัมผัสอาหาร พ.ศ. 2561 โครงการดังกล่าวนับเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการช่วยกันยกระดับการให้บริการอาหารที่สะอาดปลอดภัยแก่ผู้บริโภค


สำหรับเนื้อหาหลักสูตรการอบรม ประกอบด้วยการอบรมภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ 6 ชั่วโมง สำหรับผู้ประกอบกิจการ และ 3 ชั่วโมง สำหรับหลักสูตรอบรมผู้สัมผัสอาหาร  โดยผู้เข้าร่วมอบรมจะได้เรียนรู้เนื้อหาที่จำเป็น เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถเตรียม ปรุง และให้บริการอาหารได้อย่างเหมาะสม อาทิ หลักการสุขาภิบาลอาหารและอันตรายที่เกิดจากอาหารและน้ำที่ไม่สะอาดปลอดภัย สุขวิทยาส่วนบุคคลของผู้สัมผัสอาหาร กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบกิจการด้านอาหาร การบริหารจัดการสถานประกอบกิจการด้านอาหาร การใช้กัญชาหรือกัญชงในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารที่ปลอดภัย พร้อมฝึกปฏิบัติ วิธีการล้างผักที่ถูกวิธี ธีการล้างมือ การหยิบจับอาหาร และการแต่งกายที่ถูกสุขลักษณะหลักการทำงาน และการดูแลรักษาบ่อดักไขมัน เทคนิคการตรวจทางด้านเคมี เป็นต้น และทดสอบความรู้หลังการอบรม ผู้ที่สามารถทำคะแนนได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 จะได้รับประกาศนียบัตรรับรองประจำตัวการผ่านการอบรมตามกฎกระทรวงสาธารณสุข และคุณภาพร้านอาหารสะอาดปลอดภัย ซึ่งประกาศนียบัตรดังกล่าวจะมีอายุการรับรอง 3 ปี ผู้ผ่านการอบรมสามารถนำไปใช้ยื่นต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่ตั้งของสถานที่จำหน่ายอาหารของตน 


กิจกรรมนี้จึงเป็นหนึ่งในพันธกิจของมหาวิทยาลัยมหิดล ในการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ตำบลศาลายา เพื่อ “ยกระดับ พัฒนา อาหารปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค”



No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad