สธ. ร่วมกับ จ.นนทบุรี รณรงค์ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น และ LAAB ให้กับกลุ่มเสี่ยง - Once In A Life Time

Once In A Life Time

ก้าวไปกับเราครั้งหนึ่งในชีวิต

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Tuesday, November 22, 2022

สธ. ร่วมกับ จ.นนทบุรี รณรงค์ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น และ LAAB ให้กับกลุ่มเสี่ยง







วันนี้ (22 พฤศจิกายน 2565) ณ ลานอเนกประสงค์ วัดไทรใหญ่ จ.นนทบุรี นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานพิธีเปิดการรณรงค์สร้างความเชื่อมั่นการฉีดวัคซีนเด็กเล็ก และ LAAB ให้กับกลุ่ม อสม. และกลุ่ม 608 ภายใต้โครงการ “รวมพลัง อสม. ส่งต่อภูมิคุ้มกัน” เพื่อให้บริการวัคซีนป้องกันโควิด 19 สร้างความเข้าใจ ความเชื่อมั่นแก่เครือข่าย อสม. และประชาชนให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการได้รับวัคซีนโควิด 19 เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันลดอาการรุนแรงและเสียชีวิตหากติดเชื้อ โดยมีนายอภิชัย อร่ามศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี, ศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายแพทย์รุ่งฤทัย มวลประสิทธิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี, พญ.มาลี สิริสุนทรานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลไทรน้อย และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ และผู้บริหารกรมควบคุมโรค ร่วมพิธี


นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาและยกระดับความรู้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้เป็น “อสม. หมอประจำบ้าน” รวมถึงการเพิ่มศักยภาพให้ อสม. มีภูมิคุ้มกัน และสามารถส่งต่อภูมิคุ้มกันในชุมชน ประกอบกับกระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ว่าช่วงปลายปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาวจะมีการติดเชื้อและป่วยด้วยโรคโควิด 19 เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการเปิดเทอม รวมถึงมีกิจกรรมต่างๆ ไปจนถึงปีใหม่ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 13-19 พฤศจิกายน 2565 มีผู้ป่วยโควิด 19 รวม 3,957 ราย เฉลี่ย 565 รายต่อวัน ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบมี 432 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 252 ราย และผู้เสียชีวิต 65 ราย เฉลี่ย 9 รายต่อวัน กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายเร่งรัดการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เน้นวัคซีนสำหรับเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 4 ปี วัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับกลุ่มเสี่ยง 608 นอกจากนี้วัคซีนเข็มกระตุ้นยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตจากเชื้อกลายพันธุ์อย่างเช่นสายพันธุ์ BA.2.75 ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเร็ว โดยพบว่าปัจจุบันนนทบุรี มีความครอบคลุมวัคซีน 1 เข็ม ร้อยละ 86.4 เข็ม 2 ร้อยละ 82.6 และเข็มกระตุ้นร้อยละ 62.1 และยังมีแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว (Long-acting Antibodies; LAAB) ที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันการป่วยหนัก ลดโอกาสเสียชีวิตแก่ประชาชน


“การทำงานของภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือ LAAB จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในผู้ที่ตอบสนองต่อวัคซีนได้น้อยกว่าคนทั่วไป เมื่อฉีดเข้าไปแล้วร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิดได้สูงทันทีหลังฉีด ทำให้เกิดประโยชน์อย่างมาก ในการลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าว ซึ่งในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เป็นต้น มีการขึ้นทะเบียนใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB ในการรักษาผู้ป่วยโควิดกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต” นายแพทย์ธเรศ กล่าว


ศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สำหรับผู้ปกครองที่มีความกังวลใจและกำลังตัดสินใจว่าลูกเราควรจะได้รับวัคซีนหรือไม่นั้น ขอให้ผู้ปกครองคำนึงความปลอดภัยของลูกมาก่อน เพราะ เด็กๆ ทุกคนควรได้รับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด 19 โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการป่วยหนัก อาจพบภาวะแทรกซ้อน ปอดบวม และหลอดลมอักเสบ ซึ่งอาจมีอาการรุนแรงถึงชีวิต ไม่ต่างจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ โดยขณะนี้มีวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ไฟเซอร์ฝาสีแดงสำหรับฉีดในเด็ก 6 เดือน - 4 ปี เข้ามาในประเทศไทยแล้ว จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่ามีความปลอดภัย ผลข้างเคียงน้อยกว่าวัคซีนที่ฉีดในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่ที่พบจะเจ็บบริเวณที่ฉีด มีไข้ อ่อนเพลีย หมอแนะนำให้เด็กเล็กฉีด โดยเฉพาะในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นสถานที่ที่เด็กอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นจุดเสี่ยงที่แพร่เชื้อและติดต่อระหว่างกันได้ง่าย ทั้งนี้ถึงแม้ว่าอาจจะป้องกันการติดเชื้อโควิดไม่ได้ทั้งหมด และหากติดเชื้อแล้วจะลดความรุนแรง ลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตได้


นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งโครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด 19 มีเป้าหมายไม่น้อยกว่า 2 ล้านโดส ภายในเดือนธันวาคม 2565 เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กเล็กและเข็มกระตุ้นในกลุ่ม 608 เพื่อลดความเสี่ยงต่อการป่วยหนักและเสียชีวิต โดยเน้นเชิญชวน ค้นหา ติดตามคนที่ยังไม่ได้ฉีดจนถึงระดับหมู่บ้าน โดย อสม.ร่วมกับกำนัน/ผู้ใหญ่บ้านลงพื้นที่ด้วยกัน และอำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้ามารับวัคซีนให้มากที่สุด อาทิ จัดตั้งหน่วยบริการฉีดวัคซีนนอกสถานพยาบาล บริการฉีดวัคซีนถึงบ้านให้กับกลุ่ม 608 และผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ มีความพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย


*************************************

ข้อมูลจาก : สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จ.สระบุรี/กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad