กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ จัดกิจกรรมสัมมนาเสริมสร้างองค์ความรู้และฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ด้าน BCG และ Carbon footprint ภายใต้กิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยสู่ความยั่งยืน แก่ผู้ประกอบการในกลุ่มหัตถอุตสาหกรรมสินค้าไลฟ์สไตล์ ในพื้นที่ภาคเหนือ
นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กล่าวว่า กิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยสู่ความยั่งยืน เป็นกิจกรรมที่กรมได้ดำเนินการตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมผู้ประกอบการไทย และส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการไทย รวมทั้งตอบโจทย์เมกะเทรนด์โลก โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม
การจัดกิจกรรมในพื้นที่ภาคเหนือในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ภาคกลางไปแล้ว
เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี โดยผู้ประกอบการมีความยินดีที่ได้รับโอกาสในการเพิ่มองค์ความรู้สู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ DITP ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) นำร่องยกระดับผู้ประกอบการไทย เน้นเตรียมความพร้อมด้านการค้า สร้างการรับรู้ให้กับผู้ประกอบการเข้าใจถึงความสำคัญและประโยชน์ของการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด BCG Economy Model และธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำ มุ่งสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสู่การดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนา
ที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
นางสาวประอรนุช ประนุช ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กิจกรรมดังกล่าว เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในกลุ่มหัตถอุตสาหกรรมสินค้าไลฟ์สไตล์ ในพื้นที่ภาคกลาง และภาคเหนือ เกิดองค์ความรู้และทักษะในการประกอบธุรกิจภายใต้แนวคิด BCG Economy Model และการเตรียมความพร้อมเพื่อยื่นขอฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ โดยกิจกรรมในพื้นที่ภาคเหนือ
จัดระหว่างวันที่ 12 – 14 กันยายน 2565 (3 วัน) และได้รับการตอบรับเป็นอย่างกีจากผู้เข้าร่วมฝึกอบรม โดยตลอดระยะเวลาการจัดกิจกรรมผู้ประกอบการ ภาคเหนือ จำนวน 16 บริษัท จะได้รับการอบรม
5 หลักสูตร ได้แก่
หลักสูตรที่ 1 “โอกาสส่งออกสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เป็นการบรรยายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ จาก นางสาวจารุวรรณ คำเมือง กรรมผู้จัดการ บริษัท ฟางไทย แฟคทอรี่ จำกัด
หลักสูตรที่ 2 “การจัดการธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่” เป็นการอบรมเชิงบรรยาย จาก ผศ.ดร.สุริยะ ทองมุณี ผู้ช่วยผู้อำนวยการ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หลักสูตรที่ 3 “การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดที่เกี่ยวกับ BCG การเติบโตของเศรษฐกิจสีเขียว”
หลักสูตรที่ 4 “ที่มา หลักการ การขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ตามรูปแบบขององค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.)”
หลักสูตรที่ 5 “หลักการพื้นฐานและแนวคิดการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์”
หลักสูตรที่ 3 – 5 เป็นการอบรมเชิงบรรยายและเชิงปฏิบัติการ จาก หน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หลังจากจบกิจกรรมเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะดังกล่าว ผู้ประกอบการสามารถนำพื้นฐานองค์ความรู้
ที่ได้มาใช้ต่อยอดในกระบวนการผลิตของตนเองในการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ และมีโอกาสต่อยอดเข้าสู่การให้คำปรึกษาเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญในด้านการดำเนินธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำในเฟสที่ 2 ในปี 2566
ในปีหน้า (2566) กรมฯ มีแผนต่อยอดผู้ประกอบการที่สนใจและมีการดำเนินการ
ภายใต้แนวคิด
BCG Economy Model เข้าร่วมเป็นฮีโร่ BCG (BCG Heroes) สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้ากรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th สายตรงการค้าระหว่างประเทศโทร. 1169 และกิจกรรมด้าน BCG Economy ในพื้นที่ภาคเหนือ ติดต่อ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ https://www.step.cmu.ac.th/ โทรศัพท์ 05394 8678
***********************
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
17 กันยายน 65
No comments:
Post a Comment