ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และรองศาสตราจารย์ ดร. ภก.สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงผลการรับรองคุณภาพหลักสูตรระดับนานาชาติ และความสำเร็จของการได้รับรองมาตรฐาน ABET ณ ห้องประชุมภัทรมหาราชการุณย์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมหิดลและทุกส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยได้ทุ่มเทในการพัฒนาหลักสูตรให้มีคุณภาพ จนสามารถดำเนินการได้บรรลุตามเป้าหมาย ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานการศึกษาของมหาวิทยาลัยสู่สากล ตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยที่มุ่งสู่การเป็น World Class University โดยมีนโยบายในการขับเคลื่อนด้วยการพัฒนาคุณภาพในกระบวนการต่าง ๆ ทั้งในระดับองค์กรไปจนถึงระดับหลักสูตร ซึ่งในระดับหลักสูตร มหาวิทยาลัยได้ส่งเสริมและสนับสนุนด้านการพัฒนาหลักสูตรให้เป็นแบบมุ่งผลลัพธ์ หรือ Outcome Based Education พัฒนาวิธีการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้บัณฑิตมีองค์ความรู้และทักษะที่มีความทันสมัยและสอดคล้องตามความต้องการของผู้ช้บัณฑิต สังคมและประเทศ และมีทัศนคติที่ดี ใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถ และมีทักษะของการใช้ชีวิต การทำงานได้ในสังคมทั้งในระดับประเทศและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ตลอดจนยังคงเดินหน้าและผลักดันให้หลักสูตรของมหาวิทยาลัยได้รับการประเมินและขอรับรองคุณภาพระดับนานาชาติมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์ประกันคุณภาพการศึกษาของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN-QA) รวมถึงเกณฑ์คุณภาพเฉพาะสาขาวิชา เช่น WFME, AACSB, ABET, MUSIQUE, TedQual เป็นต้น จนถึงปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดลมีหลักสูตรที่ได้รับรองเพิ่มเติมทั้งจาก AUN-QA, MusiQuE และ ABET ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถบรรลุได้ตามเป้าหมายการรับรองในระดับนานาชาติร้อยละ 15 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 53 หลักสูตรที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว
รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความสำเร็จที่ได้รับรองหลักสูตรในระดับปริญญาตรีจำนวน 6 หลักสูตร จาก Accreditation Board for Engineering and Technology หรือ ABET อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมาตรฐานนี้เป็นที่ยอมรับทั้งในภาคการศึกษาวิชาชีพวิศวกรรมศาสตร์และวงการอุตสาหกรรมทั่วโลก ดังนั้น การที่หลักสูตรของ
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ได้รับการรับรองมาตรฐาน ABET นี้แล้ว จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวผู้เรียนที่จะสำเร็จการศึกษาในอนาคต ที่จะได้รับโอกาสในการเข้าทำงานได้ทั่วโลก สำหรับบุคลากร คณาจารย์ และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยจะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในเวทีระดับสากล สำหรับหลักสูตรและสถาบันการศึกษาก็จะได้รับการเชื่อถือในมาตรฐานของการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ สุดท้ายแล้ว
ในภาพรวมระดับประเทศ มาตรฐาน ABET จะช่วยส่งเสริมให้วิชาชีพวิศวกรในสาขาต่าง ๆ ของประเทศไทยมีศักยภาพที่สูงขึ้นสู่ระดับโลก
No comments:
Post a Comment