กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย สืบสานแนวพระดำริ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” เดินหน้าขับเคลื่อนกิจกรรม สร้างต้นแบบ “ดอนกอยโมเดล” และ “นาหว้าโมเดล” เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน - Once In A Life Time

Once In A Life Time

ก้าวไปกับเราครั้งหนึ่งในชีวิต

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Sunday, November 20, 2022

กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย สืบสานแนวพระดำริ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” เดินหน้าขับเคลื่อนกิจกรรม สร้างต้นแบบ “ดอนกอยโมเดล” และ “นาหว้าโมเดล” เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน


















วันที่ 20 พฤศจิกายน 2565

ณ ศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย “วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน”อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร

      

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยนางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อน “ดอนกอยโมเดล” และติดตามการดำเนินงานสร้างศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย “วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน”อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร โดยมีนางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นายสมาน พั่วโพธิ์ พัฒนาการจังหวัดสกลนคร นายวรงค์ แสงเมือง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน นายยรรยง  พรมศร นายอำเภอพรรณนานิคม นางอำไพ ดวงคุณ พัฒนาการอำเภอพรรณานิคม หัวหน้าส่วนราชการอำเภอ ร่วมลงพื้นที่ฯ

       

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ‘ดอนกอยโมเดล’ โครงการกลุ่มผ้าทอต้นแบบ ของอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จากพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย สนับสนุนการดำเนินงานตามพระราชดำริ ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพผ้าของชุมชนบ้านดอนกอยไปสู่การเป็นชุมชนต้นแบบของประเทศ  นับตั้งแต่ปี 2563 ที่พระองค์เสด็จทอดพระเนตรขั้นตอนการผลิตผ้าย้อมครามที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นภูไทยที่กลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอย อำเภอพรรณานิคม ใช้เวลาพัฒนาไม่ถึง 2 ปี ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ผ้าทอย้อมครามที่เกิดเป็นลวดลายใหม่ๆ ดีไซน์ทันสมัย และเฉดสีที่อิงเทรนด์แฟชั่น สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อคนต่อเดือน  ต่อยอดสู่การเป็นโครงการต้นแบบที่ยั่งยืน ด้วยการก่อตั้งศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ‘วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน’ 

       

นับตั้งแต่ปี 2563 ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จทอดพระเนตรขั้นตอนการผลิตผ้าย้อมครามที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นภูไทยที่กลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอย อำเภอพรรณานิคม จึงมีพระประสงค์ที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอบ้านดอนกอยให้มีความทันสมัย ยกระดับภูมิปัญญาและชิ้นงานให้เป็นที่ต้องการของตลาดไทยและตลาดโลก เกิดเป็นรายได้ และทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้น  ด้วยเหตุนี้เอง กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จึงดำเนินการโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายให้เป็น Premium OTOP เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของผ้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูง โดยบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างสมาชิกกลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอย และผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทอผ้า การออกแบบ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมชุมชน ภูมิปัญญาด้านการทอผ้า การย้อมคราม และการใช้สีธรรมชาติ มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยและมีความเป็นสากล การส่งต่อภูมิปัญญาและแนวคิดสู่คนรุ่นหลัง ผ่านศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ‘วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน’ องค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับคนในชุมชนดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องพัฒนาชุมชนต้นแบบการทอผ้าควบคู่ เพื่อให้องค์ความรู้การทอผ้า การฟอก ย้อมสีธรรมชาติ การออกแบบ ไปจนถึงแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ตลาดถูกถ่ายทอดต่อยังคนรุ่นหลัง กรมการพัฒนาชุมชนจังหวัดสกลนคร จึงสร้างศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ‘วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน’ ให้เป็นแหล่งรวบรวมภูมิปัญญาเรื่องผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัด ถ่ายทอดองค์ความรู้ กระบวนการทอผ้า และเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ๆ ให้แก่ผู้สนใจสามารถนำไปประกอบเป็นอาชีพได้ ต้นแบบการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ‘ดอนกอยโมเดล’ ไม่เพียงแต่เป็นโครงการต้นแบบเรื่องการนำภูมิปัญญาพื้นถิ่นมาต่อยอด แต่ยังเป็นแบบอย่างเรื่องการพัฒนาชุมชนโดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนทำผ้า คนย้อมผ้า และอาจส่งไปถึงผู้สวมหากใช้สารเคมีในการย้อมผ้า ส่งเสริมให้คนในชุมชนพึ่งพาตนเองได้ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ สนับสนุนให้คนในพื้นที่ปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกต้นไม้ที่ให้สีธรรมชาติ “การดำเนินงานโครงการเพื่อสนองแนวพระราชดำริในครั้งนี้ ทำให้กระทรวงมหาดไทยและภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันมีแนวทางที่ถูกต้องในการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอื่นๆ อย่างน้อยที่สุด ในจังหวัดสกลนครทุกอำเภอจะเริ่มมีการนำโมเดลนี้เข้าไปใช้”


จากนั้น เวลา 14.00 น.นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และคณะ เดินทางไปยังจังหวัดนครพนม เพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการสืบสานพระราชปณิธาน "นาหว้าโมเดล" ในโอกาสครบ 50 ปี 

   

นายอรรษิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการศิลปาชีพ นาหว้าโมเดล" เป็นโครงการตามแนวพระดำริ ที่มีภารกิจในการฟื้นฟูภูมิปัญญา ลายผ้าและความเป็นมาของโครงการศิลปาชีพฯ โดย กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มุ่งมั่นสนับสนุนแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระดำริให้มีการฟื้นฟู "การเลี้ยงหนอนไหม" สำหรับโครงการ "นาหว้าโมเดล" เพื่อให้ช่างทอผ้าสามารถนำเส้นใยจากหนอนไหมไปผลิตผืนผ้าได้ทุกเมื่อตามต้องการ โดยลดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรเส้นใย เพื่อให้ช่างทอผ้าสามารถพึ่งพาตนเองในด้านการสร้างสรรค์ผืนผ้าตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำได้อย่างยั่งยืน ทรงตั้งพระทัยมั่นในการ สืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จย่าของพระองค์ ด้วยพระวิสัยทัศน์และพระอัจฉริยภาพ ตามแนวพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" คือความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน พร้อมส่งเสริมผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัยและทุกโอกาส

   

โครงการนาหว้าโมเดล ประกอบด้วย  กลุ่มชุมชนทอผ้าทั้งหมด 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. ศูนย์หัตถกรรมและจำหน่ายสินค้าพื้นบ้าน วัดธาตุประสิทธิ์ 2. กลุ่มศิลปาชีพทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ 3. กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองและปลูกหม่อนเลี้ยงไหม วัดศรีบุญเรือง บ้านนางัว 4. กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านโคกสะอาด ตำบลบ้านเสียว อำเภอนาหว้า  5. กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาหว้า หมู่ที่ 3 ตำบลนาหว้า  และ6. กลุ่มคนรุ่นใหม่หัวใจคือชุมชน อำเภอนาหว้า  ซึ่งชุมชนทั้ง 6 กลุ่มในโครงการนาหว้าโมเดล มาจากตำบลต่างๆ  ในอำเภอนาหว้า ซึ่งมีความเหมือนและ ความต่างในรายละเอียดวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชน มีแหล่งมรดกวัฒนธรรมชุมชนร่วมกัน ทั้งอาชีพ ศาสนสถาน วัดวาอาราม ประเพณีพิธีกรรม แหล่งน้ำป่าชุมชน รวมถึงพิพิธภัณฑ์สิ่งปลูกสร้างมาจนถึงปัจจุบัน

  

ปัจจุบันกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ มีการสืบทอดภูมิปัญญาสู่ลูกหลาน ในตำบลนาหว้าได้ใช้อาคารศูนย์หัตถกรรมและจำหน่ายสินค้าพื้นบ้านวัดธาตุประสิทธิ์ เป็นแหล่งเรียนรู้กระบวนการทอผ้า และในตำบลท่าเรือได้ใช้พื้นที่กลุ่มศิลปาชีพทอผ้าไหมบ้าน ท่าเรือ ณ วัดศรีโพธิชัย เป็นแหล่งเรียนรู้กระบวนการทอผ้า ซึ่งบรรจุไว้ในหลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่นของโรงเรียนบ้านนาหว้า โรงเรียนนาหว้าพิทยาคม และโรงเรียนราษฎร์สามัคคี โดยมีสมาชิกกลุ่มในพื้นที่อำเภอนาหว้ารวม 200 คน มีการจัดกิจกรรมทอผ้าไหมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยสมาชิกได้ร่วมกันทอผ้าไหมทูลเกล้าฯ ต่อเนื่อง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีโครงการสืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ด้วย "นาหว้าโมเดล" ในโอกาสครบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพ ทรงส่งเสริมภูมิปัญญา ฟื้นฟู และพัฒนาลายผ้าจากชุมชนต้นแบบทอผ้าที่มีฝีมือในด้านการทอผ้าลายโบราณให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ตลอดจนการพัฒนา ชุมชนต้นแบบบ้านนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ด้วยแรงบันดาลพระทัยที่มุ่งมั่น ทำให้ผ้าไทยมีชีวิตเป็นมรดกที่ล้ำค่า สามารถเป็นที่ประจักษ์ทุกยุคสมัย นายอรรษิษฐ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวทิ้งท้าย


#ดอนกอยโมเดล

#นาหว้าโมเดล

#ผ้าไทยใส่ให้สนุก

#กรมการพัฒนาชุมชน

#กระทรวงมหาดไทย

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad