กรมควบคุมโรค จับมือ (IHPP) เผยผลการศึกษาอัตราการเสียชีวิตส่วนเกิน Excess death - Once In A Life Time

Once In A Life Time

ก้าวไปกับเราครั้งหนึ่งในชีวิต

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Wednesday, November 16, 2022

กรมควบคุมโรค จับมือ (IHPP) เผยผลการศึกษาอัตราการเสียชีวิตส่วนเกิน Excess death




เมื่อวันที่ (11 พฤศจิกายน 2565) ที่กรมควบคุมโรค 

นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคโควิด 19 ได้มีการระบาดไปทั่วโลก ทำให้ประชาชนเจ็บป่วยและเสียชีวิต จึงเริ่มมีการศึกษาว่าผลกระทบจากโควิดมีมากน้อยเพียงใด โดยข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) จากการสำรวจทั่วโลก พบว่าการเสียชีวิตที่เกิดจากโรคโควิด 19 โดยตรง มีประมาณ 6 ล้านคน ซึ่งอาจน้อยกว่าความเป็นจริง มีการศึกษาจากองค์การอนามัยโลกและคาดการณ์ว่า การเสียชีวิตจากโควิดที่ระบาดในช่วงที่ผ่านมามีประมาณ 23-24 ล้านคน  นอกจากนี้ยังมีการศึกษาโดยการรวบรวมข้อมูลในปี 2020 และนำข้อมูลมาเปรียบเทียบ เพื่อให้ได้ข้อมูลว่า ปกติที่ไม่มีการระบาดมีการเสียชีวิตจำนวนเท่าไหร่ และเมื่อมีการระบาดจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตเท่าไหร่ โดยประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้เสียชีวิตส่วนเกินเพิ่มขึ้น 85.2 ต่อประชากรแสนคน  สหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น 87.4 ต่อแสนประชากร  เบลเยียมเพิ่มขึ้น 62.5 ต่อแสนประชากร  ส่วนประเทศไทยเพิ่มขึ้น 34.5 ต่อแสนประชากร เป็นต้น


ทพญ.ดร.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า การรายงานผลการเสียชีวิตส่วนเกิน หรือที่เรียกว่า เอ็กซ์เซสเดธ (Excess death) ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 ระหว่างปี 2563-2564 ที่ผ่านมา ซึ่งกระบวนการคือ นำช่วงเวลาที่มีการระบาดมาเทียบกับช่วงเวลาปกติ โดยใช้สถานการณ์ 5 ปี ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2558-2564 เป็นฐานการคำนวณการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นจริงในช่วงโควิดระบาด มาเทียบกับการเสียชีวิตที่น่าจะเกิดขึ้นเมื่อไม่มีการระบาดของโควิด ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับองค์การอนามัยโลก โดยข้อมูลภาพรวมการเสียชีวิตในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2563-2564 จากกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข พบผู้เสียชีวิตมากในปี 2564 ส่วนปี 2563 มีผู้เสียชีวิตต่ำกว่าร้อยราย ส่วนใหญ่เสียชีวิตในโรงพยาบาล


ผลการศึกษาการเสียชีวิตส่วนเกินของประเทศไทยทั้งชายและหญิงในช่วงที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า พบเพศชายเสียชีวิตในปี 2564 เพิ่มขึ้น 18,302 ราย หรือ 6.2% ที่เพิ่มขึ้นจากการตายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหากไม่มีสถานการณ์ระบาด ส่วนอัตราการเสียชีวิตส่วนเกินในเพศหญิงจะต่ำกว่าเพศชายอยู่ที่ 4,000 ราย หรือ 1.7% กลุ่มอายุที่พบอัตราการเสียชีวิตส่วนเกินสูงในเพศชาย คือ กลุ่มอายุ 50-64 ปี รองลงมากลุ่มอายุ 65-74 ปี ส่วนกลุ่มเด็ก 0-14 ปี ไม่ได้เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ปกติ ส่วนเพศหญิงพบว่ากลุ่มอายุที่มีอัตราการเสียชีวิตส่วนเกินสูง คือ กลุ่มอายุ 15-49 ปี รองลงมาคือ อายุ 50-64 ปี ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุมีไม่มาก สำหรับภาพรวมการเสียชีวิตส่วนเกินของประเทศไทยทั้งสองเพศ ไม่พบการเสียชีวิตส่วนเกินในปี 2563 แต่พบการเสียชีวิตส่วนเกินในปี 2564 อยู่ที่ 4.2% หรือตายเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ไม่มีการระบาดอยู่ที่ 22,490 ราย โดยเป็นการตายส่วนเกินของเพศชาย 18,000 กว่าราย เพศหญิงประมาณ 4,000 ราย และในกรุงเทพมหานครพบการเสียชีวิตส่วนเกินมากที่สุด หากนำข้อมูลมาเทียบกับสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตส่วนเกินสูงในช่วงเดือน ก.ค. - ส.ค. ปี 2564 และค่อยๆ ลดลงในเวลาต่อมา


พญ.วรรณา หาญเชาว์วรกุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าประเทศที่มีการฉีดวัคซีนสูงมีอัตราการเสียชีวิตส่วนเกินมากกว่าประเทศที่มีความครอบคลุมวัคซีนต่ำ จากข้อมูลในประเทศแถบยุโรป โดยเก็บข้อมูลการครอบคลุมวัคซีนของประเทศต่างๆ ในปี 2022 รวมแล้ว 50 กว่าประเทศ ยกตัวอย่างประเทศบัลแกเรีย ที่มีความครอบคลุมของวัคซีนต่ำ และมีการเสียชีวิตในเดือนสุดท้ายต่ำ สาเหตุส่วนนึงมาจากมีการเสียชีวิตส่วนเกินมาก่อนหน้าแล้ว และเป็นไปได้ว่าประเทศที่มีผู้เสียชีวิตเยอะจะมีการอิ่มตัว ดังนั้นความครอบคลุมการฉีดวัคซีนในประเทศบัลแกเรียไม่ได้เป็นปัจจัยโดยตรงที่เกี่ยงข้องกับเรื่องการพบผู้เสียชีวิตจำนวนน้อยในช่วงเวลาถัดมา จึงสรุปได้ว่า อัตราการตายส่วนเกินแปรผกผันกับความครอบคลุมของวัคซีนและความเข้มแข็งของการบังคับใช้กฎหมาย และอัตราการตายส่วนเกินจะเพิ่มขึ้น 4.1 ต่อแสนประชากร เมื่อความครอบคลุมของวัคซีนลดลง 1%

สำหรับเรื่องประสิทธิผลของวัคซีนโควิดพบว่า วัคซีนเข็มกระตุ้นทุกสูตรมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ 90% และป้องกันการป่วยรุนแรง 98% แต่เมื่อระยะผ่านไป ประสิทธิผลจะลดลง แต่จะลดลงไม่มากเมื่อเทียบกับการฉีด 2 เข็ม ดังนั้น ความครอบคลุมของวัคซีนสัมพันธ์กับการลดลงของอัตราการตายส่วนเกินจากโควิด และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ที่พบในไทย มีประวัติไม่ได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับเข็มกระตุ้น ที่สำคัญไทยมีระบบเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนโควิด

ด้านนพ.สมเกียรติ กล่าวสรุปว่า ประเทศไทยได้ทำการศึกษาอัตราการเสียชีวิตส่วนเกิน 2 ปี (พ.ศ.2563-2564) โดยปีแรกตัวเลขน้อยกว่าคาดการณ์ เมื่อมีการระบาดโควิดแรกๆ เรามีมาตรการต่างๆ ที่เข้มข้น แต่ปี 2564 มีการระบาดเพิ่มขึ้น บางส่วนเสียชีวิตจากโควิด 19 อันเนื่องมาจากการครอบคลุมการฉีดวัคซีนยังไม่มาก ทำให้ติดเชื้อและมีอาการรุนแรงขึ้น ซึ่งกลุ่มที่มีการเสียชีวิตส่วนเกินมาก คือ วัยทำงานตอนปลาย ส่วนกลุ่มเด็กไม่มีการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากปกติ ดังนั้น การศึกษาค่าการเสียชีวิตส่วนเกินของไทยในช่วงโควิด ไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาอย่างอเมริกา สหราชอาณาจักร และหลายประเทศในยุโรป


********************************

ข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2565


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad