กรมควบคุมโรค รณรงค์วันมาลาเรียโลก 2566 ยกระดับมาตรการจัดการการระบาดในพื้นที่ชายแดน มุ่งเป้าสู่ประเทศไทยปลอดไข้มาลาเรียภายในปี 2567 - Once In A Life Time

Once In A Life Time

ก้าวไปกับเราครั้งหนึ่งในชีวิต

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Tuesday, April 25, 2023

กรมควบคุมโรค รณรงค์วันมาลาเรียโลก 2566 ยกระดับมาตรการจัดการการระบาดในพื้นที่ชายแดน มุ่งเป้าสู่ประเทศไทยปลอดไข้มาลาเรียภายในปี 2567

 









กระทรวงสาธารณสุข เปิดกิจกรรมรณรงค์วันมาลาเรียโลก ประจำปี 2566 ชูนโยบายเข้มยกระดับมาตรการจัดการการระบาดในพื้นที่แพร่เชื้อ มุ่งเป้าสู่ประเทศไทยปลอดไข้มาลาเรียภายในปี 2567 พร้อมส่งมอบชุดตรวจเชื้อมาลาเรียแบบรวดเร็ว และมุ้งชุบสารเคมี ให้กับ 6 จังหวัดที่มีเขตติดต่อประเทศเมียนมาร์

วันนี้ (25 เมษายน 2566) ที่โรงแรมเดอะ แลนมาร์ค กรุงเทพฯ นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์วันมาลาเรียโลก ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมสู่การปฏิบัติ เพื่อกำจัดโรคไข้มาลาเรีย” (Time to deliver zero malaria: invest, innovate, implement) และมอบชุดตรวจเชื้อมาลาเรียแบบรวดเร็ว และมุ้งชุบสารเคมี ให้ 6 จังหวัดทางตะวันตกติดต่อประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี เพชรบุรี ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันมาลาเรียโลกตรงกับวันที่ 25 เมษายน ของทุกปี โดยโรคไข้มาลาเรียถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันตก ซึ่งปัจจุบันพบการระบาด และในการแก้ไขปัญหาโรคไข้มาลาเรียต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยในพื้นที่แพร่เชื้อมาลาเรีย โดยชู 6 มาตรการจัดการในพื้นที่แพร่เชื้อ 6 จังหวัด ได้แก่ 1) เพิ่มการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชน  2) ขยายการเข้าถึงบริการตรวจรักษาในชุมชน  3) ตอบโต้เมื่อพบผู้ป่วยหรือเกิดการระบาดอย่างรวดเร็ว 


4) ควบคุมยุงพาหะให้ครอบคลุม  5) ติดตามการกินยา ผลการรักษาให้ครบ  6) ติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง และในวันนี้ได้ส่งมอบชุดตรวจเชื้อมาลาเรียแบบรวดเร็ว และมุ้งชุบสารเคมีให้แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนได้นำไปใช้ป้องกันโรคไข้มาลาเรียในพื้นที่

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้จัดทำยุทธศาสตร์การกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย พ.ศ. 2560-2569 ซึ่งผลการดำเนินงาน ตั้งแต่ปี 2560-2564  มีการประยุกต์ใช้นวัตกรรมในด้านต่างๆ ทั้งด้านการตรวจวินิจฉัย 


ด้านการรักษา และด้านการป้องกันควบคุมยุงพาหะ พบว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยมีจำนวนผู้ป่วยลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงปี 2565 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายของประชากรข้ามพรมแดน โดยตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วยจำนวน 2,594 ราย ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมา ณ ช่วงเวลาเดียวกันถึง 3 เท่า พบมากสุดในจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน และกาญจนบุรี ตามลำดับ อีกทั้งมีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรีย ชนิดพลาสโมเดียมโนวไซ (Plasmodium knowlesi - Pk)  มากขึ้นตั้งแต่ในช่วงปี 2565 ซึ่งเป็นเชื้อที่มีลิงหางยาวเป็นสัตว์รังโรค โดยพบมากในบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ของประเทศ ดังนั้นกรมควบคุมโรคจึงได้ประกาศเจตนารมณ์ในการบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการด้านการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคไข้มาลาเรียในประเทศไทย ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

แพทย์หญิงฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวเสริมว่า ในวันที่ 25 เมษายน 2566 นี้ กรมควบคุมโรคได้จัดกิจกรรม “เข้าถึงตรงจุด หยุดการแพร่เชื้อมาลาเรีย” ภายในงานมีการเสวนาเรื่อง “นวัตกรรมสู่การปฏิบัติ เพื่อกำจัดโรคไข้มาลาเรีย” และการมอบประกาศนียบัตรและโล่เกียรติคุณให้แก่ จังหวัดปลอดไข้มาลาเรีย เขตสุขภาพปลอดไข้มาลาเรีย และผู้อุทิศตนในการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย ประจำปี 2566 เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และขอบคุณที่ทำให้คนไทยปลอดภัยจากโรคไข้มาลาเรีย


****************************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อนำโดยแมลง/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 25 เมษายน 2566


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad