ฉบับที่ 14/2566 ประจำสัปดาห์ที่ 15 (วันที่ 16 – 22 เมษายน 2566)
“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในปี พ.ศ 2566 ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.- 12 เม.ย. 2566 พบผู้ป่วย 27,405 ราย จาก 76 จังหวัด อัตราป่วย 41.42 ต่อประชากรแสนคน ไม่พบผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ ช่วงอายุ 0-4 ปี (14.19%) ช่วงอายุ 15-24 ปี (13.34%) และช่วงอายุ 25-34 ปี (12.82%) และได้รับรายงานการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษเป็นกลุ่มก้อนที่มีผู้ป่วยมากกว่า 50 ราย จำนวน 17 เหตุการณ์ มีผู้ป่วยตั้งแต่ 50-388 ราย พบในสถานศึกษา 12 เหตุการณ์ รองลงมา คือ เรือนจำ 2 เหตุการณ์ และการรวมกลุ่มทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น งานปฏิบัติธรรม งานแต่งงาน 3 เหตุการณ์ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อโรคจำพวก S.aureus หรือ B. cereus หรือ salmonella spp เป็นต้น ที่มีการปนเปื้อนในอาหาร อาทิเช่น ข้าวผัด ข้าวมันไก่ ขนมจีน รวมถึงน้ำดื่มและน้ำแข็งที่มีกระบวนการผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ”
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้คาดว่าจะพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษสูงต่อเนื่อง ผนวกกับช่วงนี้ประเทศไทยที่มีอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้อาหารต่างๆ บูดเร็ว อาจมีสารพิษและแบคทีเรียปนเปื้อน โดยผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลว ถ่ายเป็นน้ำหรือมีมูกเลือด ร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะ คอแห้งกระหายน้ำ และอาจมีไข้ได้ ซึ่งถ้าหากอาการรุนแรงขึ้น มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไปในกระแสเลือด ก็อาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ส่วนใหญ่มักเกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อน ในกลุ่มคนที่มีการรับประทานอาหารและน้ำร่วมกัน สำหรับการช่วยเหลือเบื้องต้นควรให้จิบสารละลายเกลือแร่ โอ อาร์ เอส บ่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่า ควรเลือกซื้ออาหารที่สด สะอาด รูป รส กลิ่น สี ไม่ผิดปกติ ล้างทำความสะอาดก่อนนำมาปรุง ประกอบอาหารด้วยความร้อนให้สุกอย่างทั่วถึง ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่รับประทานอาหารดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ อาหารที่ปรุงไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง นำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง เลือกบริโภคอาหาร น้ำและน้ำดื่มที่สะอาดมีเครื่องหมาย อย. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุง ประกอบและรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก หากอาหารที่รับประทานมีรูป รส กลิ่น สี เปลี่ยนไป ไม่ควรนำมารับประทานต่อ สำหรับผู้ประกอบอาหาร ควรยึดหลักสุขอนามัยของผู้ปรุงและสุขาภิบาลอาหาร หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”
*******************************************
ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 18 เมษายน 2566
No comments:
Post a Comment